การลงนามและเผยแพร่ผลงานวิชาการของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณอุษณีย์ ธงไชย

         นายปราชญ์ สงวนศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด คณะผู้บริหาร และบุคลากรสำนักหอสมุด จัดการลงนามในแบบยินยอมเผยแพร่ผลงานของศาสตราจารย์เกียรติคุณอุษณีย์ ธงไชย อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณอุษณีย์ ธงไชย อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญญารัตน์ อภิวงค์ หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์  และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิลลา วิลัยทอง อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าร่วมการลงนาม  ซึ่งเป็นผลงานที่มีคุณค่าต่อการศึกษา ค้นคว้า และวิจัยของนักศึกษา อาจารย์ นักวิจัยของมหาวิทยาลัยและผู้สนใจทั่วไป โดยจะได้รับการจัดเก็บและเผยแพร่ไว้ในรูปแบบเอกสารฉบับเต็มใน Personal Collections ใน sub-collection ชื่อ “Prof. Emeritus Usanee Thongchai” บน CMU Digital Collections ณ ห้องรับรองชั้น 5 สำนักหอสมุด เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2567

        สำนักหอสมุด มีเป้าหมายด้านการพัฒนาบริการสารสนเทศล้านนา เป็น “ศูนย์ข้อมูลล้านนาชั้นนำในปี 2570” โดยมีงานสารสนเทศล้านนาและภาคเหนือ ฝ่ายสารสนเทศล้านนาและภาคเหนือ เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย หนึ่งในแผนงานสำคัญคือ การพัฒนา digital content ด้านล้านนาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ มรดกทางวัฒนธรรม และด้านเศรษฐกิจสังคม และเผยแพร่ในรูปแบบเอกสารฉบับเต็มบน CMU Digital Collections Platform ซึ่งสำนักหอสมุดพัฒนาขึ้น และเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์สำนักหอสมุด 

        การพัฒนา digital content ดังกล่าว เริ่มตั้งแต่ 2550-ปัจจุบัน ได้ดำเนินการในหลากหลายวิธี ได้แก่

(1) การทำงานร่วมกับนักวิชาการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ปราชญ์ท้องถิ่น ครูภูมิปัญญาด้านล้านนา เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลมรดกทางวัฒนธรรมล้านนาในหัวข้อใหม่/เพิ่มระเบียนในฐานข้อมูลที่พัฒนาขึ้นแล้ว การจัดทำหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ การเผยแพร่เนื้อหาผ่านเว็บไซต์ lannainfo.library.cmu.ac.th

(2) การพัฒนา Personal Collections ให้แก่ผลงานของนักวิชาการ/ผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการยอมรับและมีผลงานเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ มรดกทางวัฒนธรรม และด้านเศรษฐกิจสังคม

3) การเก็บรวบรวมองค์ความรู้ด้านล้านนาโดยการสัมภาษณ์นักวิชาการ/ผู้เชี่ยวชาญในประเด็นเกี่ยวข้องกับฐานข้อมูลที่พัฒนาขึ้น เช่น ประเพณีล้านนา เครื่องเขินล้านนา เป็นต้น และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลก

(4) การรวบรวมเอกสารเข้าถึงแบบเปิด (open access publications) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวล้านนนาและภาคเหนือ เพื่อให้บริการบนฐานข้อมูลรายการทรัพยากรฯ (CMUL Online Public Access Catalog-OPAC) และ CMU Digital Collections

        สำหรับ Personal Collections หรือคอลเล็กชันหนังสือส่วนบุคคล ได้เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2566 เป็นต้นมา และการพัฒนา Personal Collections ของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ อุษณีย์ ธงไชย ในชื่อ “Prof. Emeritus Usanee Thongchai” จะเป็น Personal Collections ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีล้านนา คอลเล็กชันแรกที่จะเป็นประโยชน์ยิ่งต่อการต่อการศึกษาค้นคว้าและวิจัยด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีล้านนาให้แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และการศึกษาด้านนี้ของชุมชนทั่วโลกผ่านอินเทอร์เน็ต

แกลลอรี่

การลงนามและเผยแพร่ผลงานวิชาการของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณอุษณีย์ ธงไชย
  23 มกราคม 2567, 11.32 น.