ศาลพระภูมิ
 
          มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดพิธีตั้งศาลพระภูมิประจำมหาวิทยาลัย เมื่อวันอังคารที่ 21 กรกฎาคม 2507 เวลา 9.00 – 10.00 น. ณ บริเวณหน้าตึกมหาวิทยาลัย
(ศาลาธรรมในปัจจุบัน) โดยมีศาสตราจารย์ ดร. บัวเรศ คำทอง รักษาการรองอธิการบดีและคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ นายแพทย์บุญสม มาร์ติน รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายปกครอง ศาสตราจารย์ ดร. มล. ตุ้ย ชุมสาย คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และรักษาการคณบดีคณะสังคมศาสตร์ คณาจารย์ ข้าราชการ และนักศึกษาไปร่วมพิธีโดยพร้อมเพรียงกัน
          เมื่อเสร็จพิธีตั้งศาลพระภูมิแล้ว เหล่าคณาจารย์ ข้าราชการ และนักศึกษา ร่วมกันประกอบพิธีทางพุทธศาสนา ณ ตึกมหาวิทยาลัย โดยมีท่านเจ้าคุณราชสุธี เจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พิธีเริ่มด้วยท่านเจ้าคุณได้อธิบายความสำคัญของการตั้งศาลพระภูมิประกอบกับคำสอนทางพุทธศาสนาเสร็จแล้วจึงทำสมาทานศีล ถวายสังฆทานและประพรมน้ำพระพุทธมนต์เป็นลำดับสุดท้าย
 
 ศาลาธรรม
 
               ศาลาธรรมเป็นอาคาร 2 ชั้น ทรงไทย ตั้งอยู่ด้านหน้ามหาวิทยาลัย ตัวอาคารประกอบด้วยห้องโถงกว้าง12 เมตร
ยาว 20 เมตร สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2507 ต่อมาได้มีการต่อเติมตัวอาคารด้านหลังและทำซุ้มเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งเป็นพระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัย
               ในระยะแรกศาลาธรรมเป็นสถานที่จัดพิธีไหว้ครูของ
นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อศาลาอ่างแก้วสร้างเสร็จจึงได้ประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและพิธีไหว้ครู ณ ศาลาอ่างแก้ว มหาวิทยาลัยจึงใช้ศาลาธรรมเป็นสถานที่เปลี่ยนฉลองพระองค์ และประทับพักพระอิริยาบถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและ
พระบรมวงศานุวงศ์ในคราวเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตร ซึ่งเหล่าคณาจารย์ ข้าราชการ และนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็จะมาเฝ้ารอรับเสด็จ ณ สถานที่แห่งนี้
               ต่อมาเมื่อหอประชุมมหาวิทยาลัยสร้างเสร็จจึงได้ย้ายสถานที่พระราชทานปริญญาบัตรและพิธีไหว้ครูไปยังหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยจึงได้ใช้ศาลาธรรมเป็นสถานที่จัดงานสำคัญๆของมหาวิทยาลัยในบางโอกาส เช่น การจัดงานแสดงความยินดี และงานเลี้ยงรับรองผู้มีเกียรติของมหาวิทยาลัย เป็นต้น
คำโปรย : ที่เรียกศาลาธรรมเพราะมีการอาราธนาเจ้าคุณวินัยและพระสงฆ์รูปอื่นๆมาสนทนาธรรมกันที่นี่
               : ชื่อศาลาธรรมก็ดีนะ เพราะที่กรุงเทพฯก็มีศาลาสันติธรรมแล้วศาลาธรรมเราเล็กกว่าเขา
 
 สถานที่พระราชทานปริญญาบัตร
 
               มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เริ่มเปิดสอนในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2507 โดยระยะแรกมีเพียง 3 คณะ ได้แก่ คณะมนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ ในปีพ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตน์ราชกัญญาฯ และพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ฯมาทรงประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ ณ วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2508 และในปีเดียวกันนี้เองที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับโอนคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ มาสังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดังนั้นพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ในครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2509) จึงเป็นพิธีพระราชทานปริญญาบัตรพร้อมกับมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ณ หอประชุมแพทยาลัย มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ครั้งที่ 2 (พ.ศ.2510) จัด ณ พลับพลาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครั้งที่ 3-5 (พ.ศ. 2512 –2514 ) จัด ณ พลับพลาบริเวณสนามหน้าตึกอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
 
               ปีพุทธศักราช 2515 เมื่อการสร้างศาลาอ่างแก้วแล้วเสร็จ มหาวิทยาลัยจึงได้ย้ายสถานที่ประกอบพิธีพระราชทาน
ปริญญาบัตรมายังศาลาอ่างแก้ว ดังนั้น พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งที่ 6–30 (พ.ศ. 2515–2539) จึงจัด ณ ศาลาอ่างแก้ว ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวมีเหตุการณ์ที่ควรบันทึกไว้คือ ในการพระราชทานปริญญาบัตรครั้งที่ 25 (พ.ศ. 2534) เป็นปีฉลอง 25 ปีแห่งพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต จัดทำเหรียญที่ระลึกพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งที่ 25 ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นเหรียญทองคำหนัก 25 บาท จำนวน
1 เหรียญ เพื่อขอพระราชทานทูลเกล้าฯถวายเหรียญที่ระลึกดังกล่าวแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในพิธีพระราชทานปริญญา-บัตร ครั้งที่ 25 เพื่อเป็นศิริมงคลแก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
               ปีพุทธศักราช 2540 หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินเปิดอาคารหอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมกับ
พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดังนั้นการพระราชทานปริญญาบัตรครั้งที่ 31
(พ.ศ. 2540) จึงเป็นปีที่เริ่มใช้หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นสถานที่พระราชทานปริญญาบัตร
               อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ควรบันทึกไว้คือ ปีพุทธศักราช 2539 ตรงกับมหามงคลวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อมอย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อความร่มเย็นเป็นสุขแก่ชาติบ้านเมืองและพสกนิกรเป็นเอนกประการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัด กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติจัดสร้างวัตถุมงคลและพระพุทธรูปบูชา โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ได้ทรงพระกรุณาประทานนามพระพุทธรูปว่า “พระพุทธพิงคนครา ภิมงคล” เพื่อให้เป็นพระพุทธรูปประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯเสด็จพระราชดำเนินเปิดอาคาร
หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่พร้อมกับพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครั้งที่ 31
วันศุกร์ ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2540 มหาวิทยาลัยโดยอธิการบดีได้น้อมเกล้าฯถวายพระพุทธพิงคนคราภิมงคล (จำลอง) แด่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
 
 พรรณไม้ในมหาวิทยาลัย
 
               ต้นไม้และดอกไม้เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ หากสถานที่ใดมีความอุดมสมบูรณ์ในด้านทรัพยากรมาก สถานที่นั้นย่อมต้องมีต้นไม้และดอกไม้ขึ้นอยู่มากมาย ดังเช่นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แห่งนี้
               ต้นไม้และดอกไม้ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีอยู่มากมายหลากหลายชนิด บางชนิดก็ขึ้นเองตามธรรมชาติ บางชนิดอาจารย์และบุคลากรในรุ่นแรกก็เป็นผู้นำมาปลูก ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างความร่มรื่นและสดชื่นแก่ผู้ที่ได้มาพบเห็นและสัมผัส จนทำให้ต้นไม้และดอกไม้บางชนิดกลายเป็นสัญลักษณ์ที่อยู่คู่กับมหาวิทยาลัย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อาทิเช่น ดอกทองกวาว เป็นต้น
 
               ดอกทองกวาวในปัจจุบันยังสามารถหาชมได้บ้าง บริเวณศาลาอ่างแก้ว หรือ ตามคณะต่างๆ แต่ในอดีตดอกทองกวาวจะมีอยู่ทั่วไปในบริเวณมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจะออกดอกบานสะพรั่งชูช่อสีส้ม ให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ชื่นชมความงามในทุกฤดูหนาว พื้นสนามและทางเดินจะปูด้วยดอกทองกวาวสีส้มที่ร่วงหล่นเต็มพื้น นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทุกคนจะจดจำดอกทองกวาวได้ดีเนื่องจากดอกทองกวาวถือเป็นสัญลักษณ์ของการสอบ หากดอกทองกวาวเริ่มบานสะพรั่งนั่นหมายถึงฤดูกาลแห่งการสอบใกล้จะมาถึงแล้ว ทุกคนจะเริ่มอ่านหนังสือกันอย่างขะมักเขม้น เพื่อให้ผลการสอบผ่านไปได้ด้วยดีไม่ร่วงหล่นเหมือนดอกทองกวาว ทั้งยังเป็นช่วงเวลาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีงานพระราชทานปริญญาบัตรด้วย ความงดงามและสีสันของดอกทองกวาวนั้น ได้ช่วยสร้างบรรยากาศแห่งความปลาบปลื้มใจให้เพิ่มมากขึ้นอีกหลายเท่า จึงถือได้ว่าดอกทองกวาวเป็นดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยและจังหวัดเชียงใหม่อย่างแท้จริง
               นอกจากดอกทองกวาวซึ่งปัจจุบันหาดูได้ยากแล้ว ยังมีพรรณไม้อื่นๆอีกมากมายที่ช่วยสร้างความสดชื่นให้แก่ทุกคนในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เช่น เหลืองอินเดีย พบเห็นได้บริเวณศาลาอ่างแก้ว มักจะชูช่อให้เห็นความงามในช่วงฤดูหนาว พวงคราม พบได้ทั่วไป ออกดอกเป็นช่อสีม่วงสวยงาม ตะแบกนา จะออกดอกในช่วงฤดูฝนให้ดอกสีม่วง บานชูช่อต้อนรับนักศึกษารุ่นใหม่ทุกปี เป็นต้น
               สำหรับไม้ยืนต้นที่อยู่คู่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมาจนถึงปัจจุบันนี้มีหลายชนิด เช่น สัก เป็นพรรณไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจและมีอุดมมากในภาคเหนือ ให้ดอกสีขาวสะพรั่งในช่วงฤดูฝน ตะเคียนทอง เป็นพรรณไม้พื้นเมืองอีกชนิดหนึ่ง ออกดอกช่วงฤดูร้อนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ปีบหรือกาสะลอง ออกดอกช่วงฤดูฝนตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนพฤศจิกายน จอล่อหรืออินทนิลบก เริ่มออกดอกในช่วงฤดูร้อนตั้งแต่เดือนมีนาคมและมีช่วงเวลาออกดอกยาวนาน และอินทนิลน้ำจะออกดอกตั้งแต่ช่วงเมษายนถึงกรกฎาคมซึ่งดอกจะบานเต็มต้นแต่ไม่ผลัดใบ เป็นความงามของพรรณไม้ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกชนิดหนึ่ง แม้ว่าจะเพิ่งนำมาปลูกได้ไม่นานมานี้เอง พะยอม พรรณไม้คู่มหาวิทยาลัยอีกชนิดหนึ่ง สีขาวสะอาด กลิ่นหอมชื่นใจ ต้อนรับการมาเรียน ภาคฤดูร้อน ปัจจุบันเริ่มมีจำนวนลดน้อยลงเช่นเดียวกับ ทองกวาว
               ความงามของพรรณไม้ช่วยทำให้เรารู้สึกสดชื่นและเบิกบานใจได้ แต่ในบางครั้งเราอาจลืมที่จะรักษาธรรมชาติให้อยู่คู่กับเราเหมือนดังเช่นดอกไม้และต้นไม้บางชนิดในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ปัจจุบันหาชมไม่ได้อีกแล้ว เราทุกคนจึงควรตระหนักถึง
สิ่งแวดล้อมให้มากขึ้นเพราะหากขาดต้นไม้และดอกไม้เหล่านี้แล้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่คงจะไม่สวยงามดังเช่นทุกวันนี้
 (ข้อมูลจาก ชูศรี ไตรสนธิ และ ปริทรรศน์ ไตรสนธิ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
 
 ประเพณีรับน้องขึ้นดอย
 
               ปีพุทธศักราช 2507 ปีแรกของการเปิดดำเนินการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีนักศึกษารุ่นแรกจำนวน 291คน ศาสตราจารย์ นายแพทย์บุญสม
มาร์ติน
ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี ที่รับผิดชอบดูแลนักศึกษา มีความคิดที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีประเพณีที่แตกต่างไปจากมหาวิทยาลัยอื่น และเป็นประเพณีที่น่าประทับใจ น่าจดจำไว้ด้วยความภาคภูมิใจ ประกอบกับจังหวัดเชียงใหม่มีหนทางขึ้นดอยสุเทพ โดยครูบาศรีวิชัยเป็นผู้นำในการทำหนทางดังกล่าว นับว่าเป็นผลงานที่แสดงถึงความศรัทธาและความสามัคคีเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นหลังจากการปฐมนิเทศนักศึกษาในปีแรกแล้ว จึงได้ชักชวนนักศึกษารุ่นแรกทุกคนเดินขึ้นดอยสุเทพพร้อมกันด้วยความสามัคคี เพื่อนมัสการพระธาตุดอยสุเทพ ด้วยความศรัทธาและแสดงถึงความเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างสมบูรณ์
               ประเพณีดังกล่าวนี้นักศึกษารุ่นหลังยังคงปฏิบัติสืบต่อกันมาตราบจนทุกวันนี้และเป็นประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ที่น่าภาคภูมิของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่