คณะมนุษยศาสตร์
           คณะมนุษยศาสตร์ เป็นหนึ่งในสามคณะที่ได้รับจัดตั้งขึ้นในระยะเริ่มแรกสถาปนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่พร้อมกับอีก 2 คณะ คือ คณะวิทยาศาสตร์ ดำเนินการให้การศึกษาตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2507
 

    คณะสังคมศาสตร์
           คณะสังคมศาสตร์ เป็นหนึ่งในสามคณะแรกที่ได้ก่อตั้งขึ้นมาพร้อมกับการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2507 อันได้แก่ คณะมนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และ คณะวิทยาศาสตร์ ได้เปิดทำการสอนวันแรกเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2507 มีอาจารย์จำนวน 15 คน นักศึกษาจำนวน 75 คน เปิดดำเนินการ 3 ภาควิชาคือ ภาควิชาภูมิศาสตร์ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ และภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา โดยใช้อาคารของภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ และ หอพักชาย อาคาร 1 เป็นสถานที่เรียนชั่วคราว
 

    คณะวิทยาศาสตร์
           คณะวิทยาศาสตร์ เป็นคณะหนึ่งที่ก่อตั้งขึ้นพร้อมกับการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2507 เริ่มเปิดดำเนินการสอนครั้งแรก ตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2507
 

    คณะแพทยศาสตร์
           คณะแพทยศาสตร์ได้โอนมาจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ มาสังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และยังได้มีการเรียนการสอนในแก่นักศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพแขนงอื่น โดยจัดในรูปภาควิชาสังกัดในคณะแพทยศาสตร์ คือ ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ ภาควิชาทันตแพทยศาสตร์ ภาควิชาเภสัชศาสตร์ และภาควิชาเทคนิคการแพทย์
 

    คณะเกษตรศาสตร์
           คณะเกษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถือกำเนิดมาจากภาควิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร คณะวิทยาศาตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2507 ต่อมามหาวิทยาลัย ได้เสนอให้มีโครงการจัดตั้งคณะเกษตรศาสตร์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2509 ซึ่งอยู่ในแผนพัฒนาการศึกษา ระยะที่ 1 (พ.ศ.2505-2509) และได้จัดตั้งเป็นคณะเกษตรศาสตร์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2510 คณะเกษตรศาสตร์จึงเป็นคณะที่ 5 ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
 

    คณะศึกษาศาสตร์
           วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2511 สภาการศึกษาแห่งชาติ อนุมัติให้จัดตั้งคณะศึกษาศาสตร์ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษ เล่มที่ 85 ลงวันที่ 2 กรกฏาคม 2511
 

    คณะวิศวกรรมศาสตร์
           ประเทศไทย เป็นประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจสังคม และการศึกษาอันเกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้น ภายในประเทศ การพัฒนาดังกล่าว ทำให้สังคมเพิ่มจำนวนความต้องการวิศวกรที่จะมาปฏิบัติงานในด้าน งานรากฐาน งานสำรวจ งานการก่อสร้างต่าง ๆ อีกทั้งงานด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ ไฟฟ้า การอุตสาหกรรม และการเหมืองแร่ ด้วยเหตุผลดังกล่าว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้กำหนดให้มีการจัดและอำนวยการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ขึ้น ตามความในมาตรา 8 และมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2507 โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลให้กำหนดแผนการดำเนินงานไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคม แห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2510-2514) และในคราวประชุมสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ครั้งที่ 1/2511 เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2511 ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบให้ดำเนินการจัดตั้ง โครงการคณะวิศวกรรมศาสตร์เพื่อเปิดสอนในปีการศึกษา 2512
 

    คณะทันตแพทยศาสตร์
           คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งอยู่ถนนสุเทพ (หน้าวัดสวนดอก) ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่เปิดทำการสอนเมื่อปี 2515 เป็นต้นมา โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์บุญสม มาร์ติน ซึ่งเป็นคณบดี คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อยู่ในขณะนั้น และศาสตราจารย์พันโท ทันตแพทย์สี สิริสิงห์ อดีตคณบดี คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีส่วนผลักดันและสนับสนุนการจัดตั้ง โดยมีอาจารย์ ทันตแพทย์หญิงถาวร อนุมานราชธน ซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกทันตกรรม โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ขณะนั้น เป็นผู้ดำเนินโครงการ
 

    คณะเภสัชศาสตร์
           คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เริ่มดำเนินการให้การศึกษาสาขาวิชาเภสัชศาสตร์ในชั้นแรกในลักษณะของโรงเรียนเภสัชศาสตร์ ขึ้นกับสำนักงานคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2509 มีนักศึกษา จำนวน 10 คน ต่อมาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2515
 

    คณะพยาบาลศาสตร์
           คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มก่อตั้งขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2502 โดยมีฐานะเป็นโรงเรียนพยาลาผดุงครรภ์และอนามัย สังกัด คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ ต่อมาเมื่อคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ ย้ายมาเป็นคณะหนึ่งในสังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2507 โรงเรียนพยาบาทผดุงครรภ์และอนามัย จึงมีฐานเป็นภาควิชาหนึ่งในคณะแพทยศาสตร์ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2515 คณะพยาบาลศาสตร์ จึงได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารสภาการศึกษาแห่งชาติให้มีสถานภาพเป็นคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2515
 

    คณะเทคนิคการแพทย์
           บุคลากรด้านเทคนิคการแพทย์ มีหน้าที่ปฏิบัติงานในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำการตรวจชันสูตร เพื่อสนับสนุนงานด้านการรักษา วินิจฉัยโรค และงานวิจัยในด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพให้พัฒนายิ่ง ๆ ขึ้นไป มหาวิทยาลัยมหิดลรับผิดชอบผลิตบุคลากรในด้านนี้เป็นแห่งแรกในประเทศไทย (พ.ศ. 2500) จำนวนบัณฑิตมีจำนวนไม่มากนัก และผู้สำเร็จการศึกษาส่วนใหญ่จะปฏิบัติหน้าที่ในส่วนกลาง ดังนั้น โรงพยาบาลในส่วนภูมิภาคจึงประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรในด้านนี้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้จัดตั้งโครงการจัดตั้งสาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ ขึ้นมา เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวและได้รับอนุมัติให้ดำเนินการในปี พ.ศ. 2509 โดยจัดตั้งเป็นภาควิชาหนึ่งในคณะแพทยศาสตร์ ภาควิชาเทคนิคการแพทย์ได้พัฒนางานกว้างขวางขึ้นเรื่อย ๆ ได้ขยายการผลิตบัณฑิตสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับงานสนับสนุนบริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้น ผลิตนักรังสีเทคนิค นักกิจกรรมบำบัด เป็นต้น คณะแพทยศาสตร์ได้ตระหนังถึงความสำคัญของภาควิชาเทคนิคการแพทย์ จึงเสนอโครงการจัดตั้งคณะเทคนิคการแพทย์ไว้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2512 ต่อมาในปีพ.ศ. 2515 คณะกรรมการบริหารสภาการศึกษาแห่งชาติได้อนุมัติให้จัดตั้งโครงการฯ ขึ้น เมื่อมหาวิทยาลัยพร้อมแล้ว จึงจะอนุมัติให้จัดตั้งเป็นคณะต่อไป และใน พ.ศ. 2518 ทบวงมหาวิทยาลัยอนุมัติให้จัดต้งคณะเทคนิคการแพทย์
 

    คณะวิจิตรศิลป์
           เริ่มก่อตั้งครั้งแรก พ.ศ. 2525 ด้านความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2525 และโดยอนุมัติของทบวงมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2525 สำนักนายกรัฐมนตรีประกาศแบ่งส่วนราชการเป็นคณะ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2526 นับเป็นคณะลำดับที่ 12 ในจำนวนคณะทั้งหมดของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สีประจำคณะคือ สีแดงชาต (VERMILLION) เปิดทำการสอนครั้งแรก เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2526
 

    คณะอุตสาหกรรมเกษตร
           เริ่มแรกคณะอุตสาหกรรมเกษตรจัดตั้งในภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร คณะอุตสาหรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยจัดตั้งเป็นคณะตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 109 ตอนที่ 120 ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2535 เป็นคณะที่ 13 ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
 

    คณะสัตวแพทยศาสตร์
           คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นคณะสัตวแพทย์แห่งแรกในเขตภูมิภาค จัดตั้งขึ้นในวันที่ 2 สิงหาคม 2537 โดยเป็นคณะที่ 14 ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
 

    คณะบริหารธุรกิจ
            ในปี พ.ศ. 2508 ภาควิชาบัญชีและบริหารธุรกิจ เป็น 1 ใน 5 ภาควิชาของคณะสังคมศาสตร์ ซึ่งประกอบไปด้วย ภาควิชาบัญชีและบริหารธุรกิจ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ภาควิชาสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา และภาควิชารัฐศาสตร์ ต่อมาได้รับการอนุมัติจัดตั้ง เป็น คณะบริหารธุรกิจ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2535 ประกอบด้วย ภาควิชาการเงินและการธนาคาร ภาควิชาการจัดการ ภาควิชาการตลาด ภาควิชาการบัญชี และสำนักงานเลขานุการคณะ
 

    คณะเศรษฐศาสตร์
           คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำการเปิดสอนนักศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2507 เป็นต้นมา ซึ่งพัฒนามาจาก ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่อมาได้รับอนุมัติให้จัดตั้งเป็น คณะเศรษฐศาสตร์ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2535 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อขยายการศึกษาขั้นปริญญาทางการศึกษาออกสู่ภูมิภาคให้สอดคล้องกับ นโยบายของรัฐบาลในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตามแผนพัฒนาภาคเหนือ ตลอดจนเป็นแหล่งการวิจัยและการบริการ วิชาการแก่สังคม
 

    คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
           ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะวิจิตรศิลป์ จัดตั้งขึ้นในดือนมิถุนายน พ.ศ. 2538 จากนั้นได้ดำเนินโครงการจัดตั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ แต่เนื่องจากมีปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจตั้งแต่วันที่ 2 กรกฏาคม 2540 จึงมีการชะลอการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ของราชการ ทำให้เกิดการจัดตั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ แบบออกนอกระบบราชการ เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการ ภายใต้การกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้จัดตั้งเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาตร์เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2543 โดยเป็นคณะลำดับที่ 17 ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รายละเอียด>>
 

    คณะการสื่อสารมวลชน
           มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พุทธศักราช 2507 เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในภาคเหนือและในส่วนภูมิภาค พร้อมๆกับการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาควิชาการสื่อสารมวลชน ภาควิชาในสังกัดคณะมนุษยศาสตร์ในขณะนั้น ได้รับการจัดตั้งขึ้นในปีเดียวกันและปฏิบัติหน้าที่ตามพันธกิจหลักทั้ง 4 ด้านของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างครบถ้วน ได้แก่ ด้านการการเรียนการสอน การวิจัย การให้บริการวิชาการแก่ชุมชน และ การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม จากนั้นในปี พฤษภาคม 2547 ภาควิชาการสื่อสารมวลชนได้จัดทำโครงการจัดตั้งคณะการสื่อสารมวลชน ซึ่งต่อมาได้รับการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้เป็น คณะการสื่อสารมวลชน คณะในกำกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2548

 

    คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
           การจัดตั้งคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์นี้ มีแนวคิดพื้นฐานมาจากนโยบายของรัฐที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยของรัฐมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ โดยอยู่นอกระบบ ราชการ การที่สถาบันอุดมศึกษาจะสามารถผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพได้ จะต้องสามารถดึงดูดคนดีและคนเก่งให้เข้าสู่มหาวิทยาลัย ด้วยการให้ค่าตอบแทนที่สมเหตุผล การบริหารงานที่อิสระ มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ แนวคิดนี้เกิดขึ้นในขณะที่ทบวงมหาวิทยาลัยจัดทำแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี (พ.ศ. 2533 - 2547) โดยกำหนดนโยบายไว้ประการหนึ่งว่า "ส่งเสริมมหาวิทยาลัยของรัฐ พัฒนาองค์กร และบุคลากรไปสู่สภาพที่ไม่เป็นส่วนราชการ ตามความพร้อมและศักยภาพ"
 

    คณะนิติศาสตร์
           สาขาวิชานิติศาสตร์ ได้รับการก่อตั้งขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2508 สังกัดอยู่ในภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ เป็นการแบ่งส่วนราชการตามระเบียบบริหารราชการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเปิดสอนกระบวนวิชากฎหมายต่าง ๆ จำนวนไม่น้อยกว่า 24 กระบวนวิชาเอกส่วนหนึ่งของหลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต และนอกจากนั้นยังเป็นวิชาบังคับพื้นฐานวิชาโท และวิชาเลือกเสรีสำหรับนักศึกษาทั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกด้วย ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2535 สาขาวิชานิติศาสตร์ได้รับอนุมัติหลักสูตรจากทบวงมหาวิทยาลัยให้เปิดสอนหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต (น.บ.) ตามแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาระยะที่ 7 (พ.ศ. 2535 ? 2539) ซึ่งเนติบัณฑิตยสภาได้รับรองมาตรฐานการศึกษาให้บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาจากสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สามารถสมัครเป็นสมาชิกประเภทวิสามัญของเนติบัณฑิตยสภาได้

 

    วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี
           วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยีเป็นวิทยาลัยที่เข้มแข็งเป็นเลิศทางวิชาการ (Academic Excellence) ในลักษณะกลุ่มแข่งขันด้านวิชาการ (Academic Clustering) มีการบริหารจัดการทางวิชาการแบบรวบรัดรวดเร็ว (Fast Track) มุ่งเน้นการจัดการศึกษาตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม (Customer Focus) เพื่อสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หัตถอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์