ทศวรรษที่ 1 : ( พ.ศ. 2507 - 2516 )
 
             มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในส่วนภูมิภาคของประเทศไทย จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2507 ตามนโยบายของรัฐบาลและเจตนารมณ์ของประชาชนในภาคเหนือ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางทางวิชาการ และวิชาชีพชั้นสูง ในระยะเริ่มต้นมีการจัดตั้งคณะวิชาพื้นฐาน 3 คณะวิชา คือ คณะมนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และ พ.ศ. 2508 ได้จัดตั้งคณะแพทยศาสตร์โดยรับโอนมาจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
             ด้วยเป้าหมายที่จะให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบเป็นComprehensive University จึงก่อให้เกิดการจัดตั้งคณะวิชาต่างๆ ตามมา คือคณะเกษตรศาสตร์ (พ.ศ. 2510 ) คณะศึกษาศาสตร์ (พ.ศ. 2511 ) คณะวิศวกรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2513 )
             พ.ศ. 2515 มีการจัดตั้งคณะวิชาการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยเป็นการพัฒนาแยกตัวออกมาจากคณะแพทยศาสตร์ รวม 3 คณะวิชา คือ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัช-ศาสตร์ และคณะพยาบาลศาสตร์
             มีการเปิดรับนักศึกษาในระกับปริญญาตรี รวม 36 สาขาวิชา จาก 10 คณะวิชาที่กล่าวมา โดยเริ่มต้นปีพ.ศ. 2507 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีนักศึกษา 291 คน เปรียบเทียบกับพ.ศ. 2516 ปลายทศวรรษแรกนี้มีนักศึกษารวมทั้งสิ้น 6,725 คน มีอาจารย์ทางการสอน จำนวน 359 คน ข้าราชการช่วยวิชาการและธุรการ 826 คน สามารถผลิตบัณฑิตได้รวม 6,000 คน เมื่อสิ้นทศวรรษที่ 1 ใช้งบประมาณแผ่นดินเพื่อการจัดการศึกษาตลอดทศวรรษในวงเงิน 817.7 ล้านบาท โดยเริ่มปีแรก (พ.ศ. 2507) ได้รับงบประมาณ 25 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปลายทศวรรษ (พ.ศ. 2516) ได้รับงบประมาณ 127 ล้านบาท
             
             
 
           ทศวรรษที่ 2 : ( พ.ศ. 2517 - 2526 )
 
             มหาวิทยาลัยได้เปิดสอนหลักสูตรสาขาวิชาใหม่ในระดับปริญญาตรีเพิ่มขึ้นอีก 25 สาขาวิชาจากเดิมในทศวรรษแรก ซึ่งมี 36 สาขาวิชา ประการสำคัญคือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เริ่มเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนระดับปริญญาโทในปลายทศวรรษนี้ โดยเปิดรับนักศึกษาในปีการศึกษาทั้งสิ้น 10,178 คน มีอาจารย์เพิ่มขึ้นเป็น 1,353 คน ข้าราชการช่วยวิชาการและธุรการ จำนวน 2,266 คน สามารถผลิตบัณฑิตในระดับปริญญาตรีตลอดทศวรรษนี้ได้รวม 18,057 คน สูงขึ้นกว่าทศวรรษแรก 3 เท่าตัว และระดับปริญญาโทรวม 607 คน
             บนพื้นฐานของการขยายงานจัดการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในทศวรรษที่ 2 นี้ นอกจากมีการจัดตั้งคณะเทคนิคการแพทย์ เมื่อ พ.ศ. 2518 แล้ว ในเวลาต่อมาได้มีการจัดตั้งคณะวิจิตรศิลป์ เมื่อพ.ศ. 2526 และได้พัฒนาหน่วยงานสนับสนุนวิชาการและสถาบันวิจัยขึ้น คือมีการจัดตั้งบัณฑิตวิทยาลัยในพ.ศ. 2519 เพื่อรองรับการจัดการศึกษาระดับหลังปริญญา มีการจัดตั้งสำนักหอสมุด (พ.ศ. 2519) สำนักบริการคอมพิวเตอร์(พ.ศ. 2525) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ (พ.ศ. 2521) และสถาบันวิจัยสังคม (พ.ศ. 2524)
             การใช้งบประมาณดำเนินงานจัดการศึกษา ในแต่ละปีของทศวรรษนี้เริ่มที่พ.ศ. 2517 ต้นทศวรรษได้รับงบประมาณ 142 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ พ.ศ. 2526 ปลายทศวรรษได้รับงบประมาณ 659 ล้านบาท ดังนั้นตลอดทศวรรษที่2 นี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณแผ่นดินวงเงินรวม 3,417.7 ล้านบาท คิดเทียบเป็น 4 เท่าของทศวรรษแรก
             
             
             
 
           ทศวรรษที่ 3 : ( พ.ศ. 2527 - 2536 )
 
             เป็นทศวรรษที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เริ่มดำเนินการเปิดหลักสูตรการสอนในระดับปริญญาเอกและระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต โดยเริ่มเปิดรับนักศึกษาปริญญาเอกครั้งแระในปีการศึกษา 2532 ที่คณะวิทยาศาสตร์ และเริ่มเปิดรับนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต ในปีการศึกษา 2534 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการจัดการศึกษาหลังปริญญาในกลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสาขาการท่องเที่ยวของคณะมนุษยศาสตร์
             ปลายทศวรรษที่ 3 (พ.ศ.2535) มีการจัดการศึกษาในสาขาวิชาที่ขาดแคลนโดยจัดตั้งคณะอุตสาหกรรม การเกษตร คณะบริหารธุรกิจและคณะเศรษฐศาสตร์ อีกทั้งมีการจัดตั้งสถาบันวิจัยและหน่วยงานสนับสนุนวิชาการ กล่าวคือสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พ.ศ. 2530) สำนักทะเบียนและประมวลผล รวมทั้งสำนักบริการวิชาการ (พ.ศ. 2532 )
             งานจัดการศึกษาหลังปริญญามีการขยายตัวมากที่สุดในทศวรรษนี้ กล่าวคือ มีการเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนเพิ่มขึ้นในระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต จำนวน 18 สาขาวิชา เปิดเพิ่มในระดับปริญญาโท ถึง 40 สาขาวิชา และระดับปริญญาเอกอีกจำนวน 6 สาขาวิชา สำหรับการขยายงานจัดการศึกษาในระดับปริญญาตรีในทศวรรษนี้ ชะลอตัวลงคือมีการเปิดหลักสูตรใหม่เพิ่มขึ้นเพียง 15 สาขาวิชา
             ปลายทศวรรษที่ 3 (พ.ศ. 2536) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีจำนวนนักศึกษารวมทั้งสิ้น 15,646 คน และตลอดทศวรรษที่ 3 นี้ สามารถผลิตบัณฑิตในทุกระดับการศึกษาได้รวม 21,569 คน มีอาจารย์ทำการสอนเพิ่มขึ้นเป็น 1,865 คนจำนวนข้าราชการช่วยวิชาการและธุรการรวม 3,899 คน งบประมาณแผ่นดินที่ได้รับการสนับสนุนในทศวรรษนี้ โดยเฉพาะในช่วงปลายทศวรรษ(พ.ศ. 2534-2536) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณปีละกว่า 1 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับต้นทศวรรษ (พ.ศ. 2527) ที่ได้รับงบประมาณ 624 ล้านบาท วงเงินงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนตลอดทศวรรษที่ 3 รวมทั้งสิ้น 8,681 ล้านบาท
             
             
 
           ทศวรรษที่ 4 : ( พ.ศ. 2537 - ปัจจุบัน )
 
             ช่วงระยะเวลาตั้งแต่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปิดดำเนินการจัดการศึกษาจาก พ.ศ. 2507 ถึงปัจจุบัน พ.ศ.2544 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ผลิตบัณฑิตทุกระดับการศึกษาออกรับใช้สังคมเพื่อร่วมพัฒนาประเทศชาติ นับจำนวนรวมทั้งสิ้น 72,399 คนในช่วงทศวรรษที่ 4 นี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีแนวทางการดำเนินงานตามเป้าหมายหลักคือ เพื่อให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพ คุณธรรม เป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการวิจัย โดยเชื่อมโยงผลงานวิชาการลักษณะต่างๆ สู่เป้าหมายการให้บริการวิชาการแก่ชุมชน ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคม ให้เป็นสถาบันทางวิชาการที่มีความเป็นสากล สร้างความร่วมมือทางวิชาการให้มากยิ่งขึ้นกับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคนี้ ตลอดจนมีแนวทางบริหารจัดการสำหรับพัฒนาสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล
             ในช่วงทศวรรษที่ 4 นี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้มีการจัดตั้งองค์กรในกำกับมหาวิทยาลัยขึ้น ได้แก่ หอพักนักศึกษาในกำกับฯ จำนวน 3 หอพัก บัณฑิตศึกษาสถาน สถานศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ สถานจัดการและอนุรักษ์พลังงาน สถานวิชาการนานาชาติ สถานบริการสุขภาพพิเศษ สถานบริการพยาบาล สถานบริการสุขภาพสัตว์ สถานปฏิบัติการเภสัชชุมชน สถานวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว สถานบริการสถาปัตยกรรม สถานบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถานบริการมนุษยศาสตร์และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
             การขยายงานจัดการศึกษาในระดับปริญญาตรี สำหรับทศวรรษนี้มุ่งขยายงานไปที่กลุ่มสาขาวิชาขาดแคลนในกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกลุ่มวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตามมติคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะโครงการเร่งรัดการผลิตบัณฑิตในกลุ่มสาขาวิชาแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ปิโตรเคมี อีกทั้งได้จัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2537
             การจัดการศึกษาหลังปริญญายังคงขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มุ่งเน้นให้ความสำคัญมากขึ้น และให้มีการจัดหลักสูตรสาขาวิชาร่วมในระดับปริญญาโทที่มีคณาจารย์จากหลายคณะ / สาขาวิชาที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันจัดการเรียนการสอน โดยมีบัณฑิตวิทยาลัยเป็นหน่วยประสานงานและอำนวยการในหลักสูตรเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม นิเวศวิทยา ชนบทศึกษา และล้านนาศึกษา
             ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปิดทำการสอนทุกระดับการศึกษา รวม 227 หลักสูตร - สาขาวิชา มีนักศึกษารวมทั้งสิ้น 22,605 คน มีบุคลากรทั้งสิ้น 10,677 คน มีหน่วยงานในสังกัด 15 คณะ , 5 สำนัก , 1 สำนักงานอธิการบดี , 3 สถาบันวิจัย และ 1 บัณฑิตวิทยาลัย และมีองค์กรในกำกับ 14 องค์กร
             ความเจริญของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องและมีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุภารกิจของมหาวิทยาลัย