กว่าจะมาเป็นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
 
            พุทธศักราช 2501 รัฐบาลได้แถลงนโยบายในสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับการศึกษาข้อหนึ่งว่าจะดำเนินการ “พัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาค ตลอดถึงการศึกษาขั้นสูง” ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงได้วางโครงการพัฒนาการศึกษาขึ้นในส่วนภูมิภาค
          ความคิดริเริ่มในการตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปรากฏครั้งแรกในการประชุมโครงการพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาค ภาคการศึกษา 8 ณ โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2502 โดยมี ฯพณฯ ม.ล. ปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ผู้เข้าประชุมประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และศึกษาธิการจังหวัดในเขตการศึกษา 8 จากการประชุมครั้งนั้น ฯพณฯ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้บันทึกไว้ว่า
          “…การตั้งมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค 8 ตามความเรียกร้องของประชาชน ที่ประชุมเห็นว่าน่าจะจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่จังหวัดเชียงใหม่….ด้วยเป็นความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง….”
          ประธานได้บันทึกเหตุผลประกอบอีกว่า
          “เหตุผลสนับสนุนนั้นมีเหตุผลอย่างหนึ่งคือที่จังหวัดเชียงใหม่ มีสถาบันการศึกษาดี เป็นรากฐานอยู่ไม่น้อย ได้แก่ วิทยาลัยการเกษตรแม่โจ้ วิทยาลัยเทคนิค โรงเรียนฝึกหัดครู โรงเรียนระดับเตรียมอุดมศึกษาดีๆก็มีอยู่หลายโรง ทั้งที่เป็นโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนราษฎร์ของมิชชั่นด้วย ถ้าเปรียบกับจังหวัดอื่นๆเชียงใหม่ก็เป็นต่อ”
          เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว กระทรวงศึกษาธิการก็ได้ทำหนังสือถึง ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น จำนวน 2 ฉบับ ลงวันที่ 1 และวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2503 ซึ่งฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเห็นชอบด้วย ดังมีใจความว่า “เห็นด้วยที่จะให้สร้างที่เชียงใหม่”
          ต่อมาเมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2503 คณะรัฐมนตรีได้ลงมติให้อนุมัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกำหนดให้เป็นแผนงานในโครงการพัฒนาการศึกษาภาคเหนือ โดยให้เปิดการเรียนการสอนในปีการศึกษา2507 และมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้เตรียมการดังกล่าว
          กระทรวงศึกษาธิการโดยมี ฯพณฯ ม.ล. ปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้นในฐานะประธาน ได้เตรียมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาตั้งแต่แรกเมื่อ พ.ศ. 2503-พ.ศ. 2506 ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อที่ดิน การปรับปรุงบริเวณมหาวิทยาลัย การก่อสร้างอาคาร การเตรียมหลักสูตร รวมทั้งการเตรียมบุคลากรทั้งฝ่ายวิชาการและฝ่ายธุรการ และในปีพ.ศ. 2506 นี้เอง ได้โอนงานให้สภาการศึกษาแห่งชาติดำเนินการต่อ
 
การเตรียมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
 
          ความมุ่งหมายในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม
          การจัดตั้งมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมิอาจดำเนินการได้ในชั่วระยะเวลาอันสั้น หากต้องใช้เวลาเตรียมการอย่างสุขุมรอบคอบ เป็นขั้นตอน และมีความชัดเจนในการดำเนินงานดังที่ ฯพณฯ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้บอกเล่าถึงแนวคิดของท่าน อันเป็นความมุ่งหมายของการจัดตั้งสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ดังนี้
1. ให้ความสะดวกแก่นักศึกษาในการศึกษาเล่าเรียนและค้นคว้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดในภาคเหนือของประเทศไทย เป็นการป้องกันไม่ให้นักศึกษามาคั่งอยู่ในพระนครมากเกินควร
2. ยกระดับการศึกษาตามโครงการพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาค
 
หน้าที่และวงงาน
 
          เพื่อให้มหาวิทยาลัยในภูมิภาคแห่งแรกนี้เป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์ อำนวยประโยชน์ให้แก่ท้องถิ่นภาคเหนือทางด้านวิชาการเท่าที่พึงกระทำได้ ฯพณฯ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล จึงได้กำหนดหน้าที่และวงงานไว้ 4 ประการ ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านการเรียน การสอน การวิจัย และการให้บริการแก่ชุมชน ดังนี้
1. จัดการสอนวิชาสาขาต่างๆ ให้ปริญญา อนุปริญญา และประกาศนียบัตร
2. ส่งเสริมและดำเนินการค้นคว้าเพื่อความงอกงามทางวิชาการ และให้เกิดประโยชน์แก่สังคม
3. ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นสูงแห่งอื่นๆ ในท้องที่ เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันซึ่งจะกระทำได้โดยวิธีจัดให้อยู่ในเครือเดียวกัน (affiliation)
4. ดำเนินการทางวิชาการนอกสถานที่ โดยร่วมมือกับทางวิชาการ หรือองค์การตามสมควร เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ท้องที่ และแก่มหาวิทยาลัย (extention)
 
นโยบายในการจัดตั้งมหาวิทยาลัย
 
          ฯพณฯ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้กำหนดนโยบายในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยไว้อย่างแจ้งชัด รัดกุม รอบด้านและสามารถปฏิบัติได้จริง ดังนี้
1. ดำเนินการให้มีคุณภาพดีพอสมควรตั้งแต่เริ่มแรกเพื่อให้เกิดความเชื่อถือแต่ไม่ให้ฟุ่มเฟือยในทางใดๆ
2. ไม่ลอกแบบมหาวิทยาลัยแห่งใดแห่งหนึ่ง หรือมหาวิทยาลัยของประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ โดยจะพิจารณาอย่างรอบคอบและจัดแบบที่คิดว่าจะเกิดประโยชน์มากที่สุด
3. เขียนกฎหมายและวางรูปแบบการปกครอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความบกพร่องต่างๆ
4. คำนึงถึงสภาพท้องที่และรักษาความงามตามธรรมชาติ
5. ดำเนินการตามความต้องการ (need) และความจำเป็นสำหรับท้องที่และให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาภาคเหนือของรัฐบาล
6. ให้ความสะดวกแก่อาจารย์และศาสตราจารย์ในการอยู่ ในการทำงาน และส่งเสริมให้เป็นผู้ที่มีความสามารถยิ่งขึ้น
7. นอกจากจะสอนนิสิตให้มีความรู้ เพื่อได้ปริญญา อนุปริญญา หรือประกาศนียบัตร อาจารย์จะต้องให้ความรอบรู้และสร้างนิสัย (character) ให้แก่นิสิตด้วย
 
การสำรวจพื้นที่และการวางผัง
 
          พื้นที่สำหรับการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บริเวณเชิงดอยสุเทพ มีจำนวน 579 ไร่ กับ 68 ตารางวา ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการจัดซื้อ และมีบางส่วนได้รับบริจาคจาก นางกิมง้อ นิมมานเหมินท์ พื้นที่ดังกล่าวห่างจากคณะแพทยศาสตร์ไม่มากนัก  
          ในการเตรียมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการสำรวจสถานที่ และจัดทำแผนที่โดยละเอียด โดยมี Dr. Paul W. Seagers ซึ่งเป็นสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญการสร้างโรงเรียน และสถาบันการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอินเดียนา สหรัฐอเมริกา มาช่วยในการวางผัง ได้มีการประชุมสถาปนิกและเจ้าหน้าที่เรื่องการวางผังครั้งแรก ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2504 บนดอยสุเทพ
          ฯพณฯ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล บันทึกไว้ว่า “….การวางผังทั่วไปของมหาวิทยาลัยนั้น เป็นเรื่องสำคัญอย่างที่สุดและเป็นเรื่องสนุกให้ความเพลิดเพลินไปในตัว เพราะต้องบุกป่าฝ่าดงดูบริเวณให้เห็นด้วยตาจริง เพียงแต่พึ่งแผนที่เท่านั้นหาเพียงพอไม่…..รถจิ๊ปที่ใช้ยกล้อนอนตะแคงไปครั้งหนึ่ง ไม่ใช่เพราะแล่นเร็ว แต่เป็นเพราะความลุ่มๆดอนของพื้นที่….”
 
          รายชื่อสถาปนิกมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
 
แผนผังบริเวณ ดร.พอล ดับบลิว. ซีเกอรส์
  นายเจนจิต กุณฑลบุตร
  นางสาวธัญญา บัวทอง
ตึกมหาวิทยาลัย ม.จ. สมัยเฉลิม กฤดากร
  ม.ร.ว. มิตรารุณ เกษมศรี
ตึกอำนวยการ นายพูนจิตร มีกังวาล
  นายวรเทพ เพ็ญเพียร
ตึกวิทยาลัยชาย นายปริญญา อังศุสิงห์
  นายสากล ทีปิรัช
ตึกวิทยาศาสตร์ นายสมาน วสุวัต
บ้านพักอาจารย์พิเศษ นางพาสนา ตัณฑลักษณ์
  นายจุฬา พรรธนะแพทย์
ครุภัณฑ์และตกแต่งภายใน นางพาสนา ตัณฑลักษณ์
ประตูและรั้ว นายปริญญา อังศุสิงห์
 
งบประมาณก่อสร้างและดำเนินการ
 
          จากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2503 ได้ลงมติอนุมัติให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใน พ.ศ. 2507 โดยกระทรวงศึกษาธิการจะจัดสรรงบประมาณจำนวน 20 ล้านบาท ในขั้นเตรียมการระหว่าง พ.ศ. 2504 ถึงกลาง พ.ศ. 2507 ส่วนการดำเนินงานหลังจากนั้นถึง พ.ศ. 2509 สภาการศึกษาแห่งชาติจะจัดสรรงบประมาณ จำนวน 15 ล้านบาทให้มหาวิทยาลัย
          เพื่อให้สอดคล้องโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและพัฒนาการศึกษา หรือโครงการ 3-6 ปี ที่กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ จัดทำขึ้นในช่วงระยะเวลาต่อจากนั้นไม่นานนัก จึงเป็นผลให้การเตรียมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยมีงบประมาณดำเนินการมากขึ้น โดยฯพณฯ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล บันทึกไว้ว่า
          “…กระทรวงศึกษาธิการได้เพิ่มยอดเตรียมการสร้างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จาก 20 ล้านบาทเป็น 30 ล้านบาท และสภาการศึกษาแห่งชาติได้เพิ่มยอดดำเนินงานจาก 15 ล้านบาท เป็น 25.8 ล้านบาท….”
 
การจัดเตรียมอาคารสถานที่
 
          ในส่วนของการวางแผนการจัดอาคารสถานที่สำหรับมหาวิทยาลัยแห่งนี้ สะท้อนให้เห็นวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของ ฯพณฯ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ต่อการขยายตัวในอนาคตของมหาวิทยาลัย ดังนั้นท่านจึงให้แนวคิดในการออกแบบผังอาคารและบริการต่างๆ อาทิเช่น
 
          ตึกอำนวยการ
          “จะต้องใหญ่พอสมควร เพราะเป็นที่รวมของกิจกรรมของมหาวิทยาลัยทุกอย่าง โดยเฉพาะทางฝ่าย ธุรการ และควรจะต้องตั้งอยู่ตรงกลางบริเวณมหาวิทยาลัย ค่อนมาทางถนนใหญ่ ซึ่งเป็นทางเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อสะดวกในการติดต่อทั้งภายในและภายนอก ตึกอำนวยการนี้จะเป็นสำนักงานของอธิการบดี รองอธิการบดี ผู้ประสานงาน เลขาธิการ และคณบดีคณะต่างๆ มีห้องประชุมสภามหาวิทยาลัย ห้องสารบรรณ ห้องสถิติ ทะเบียน และระเบียนของนิสิต ซึ่งเมื่อสะสมกันหลายปีก็ต้องการที่เก็บมาก มีห้องการเงิน หน่วยพยาบาล หน่วยแนะแนว หน่วยการพิมพ์ ห้องรับแขก และห้องรับประทานอาหาร ฯลฯ”  
ตึกอำนวยการ
 
 
          ตึกหอสมุดกลาง
          “ตึกหอสมุดกลางนั้น จำเป็นอย่างยิ่งและจะต้องใหญ่มากพอสมควร เพราะมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคไม่สามารถจะพึ่งหอสมุดนอกมหาวิทยาลัยได้ เช่นในพระนครและธนบุรี หอสมุดกลางนี้จำเป็นจะต้องอยู่ตรงกลางบริเวณมหาวิทยาลัย มีถนนไปได้หลายทาง เพื่อให้นิสิตซึ่งอยู่โดยรอบมาได้สะดวก”  
ตึกหอสมุดกลาง
 
          สนามกีฬา
          “การให้นิสิตอยู่รวมกันเป็นหมู่ใหญ่อย่างเช่นมหาวิทยาลัยนั้น จำเป็นต้องส่งเสริมให้มีกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เพื่อความสามัคคี ฯลฯ สิ่งแรกที่ควรจัดคือ จัดให้เล่นกีฬาประเภทต่างๆ ทั้งชายและหญิง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะจัดเรื่องนี้ได้สะดวก เพราะลักษณะพื้นที่มีบริเวณที่เหมาะจะทำสนามกีฬาหลายแห่ง ไม่เป็นที่วิตกแต่อย่างใด…”
 
บริการสำหรับอาจารย์และนิสิต
          
          เนื่องจากในสมัยนั้น เชิงดอยสุเทพ ซึ่งกำหนดเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อยู่ไกลจากตัวเมืองถึง 6 กิโลเมตร และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ โดยเฉพาะบริการด้านสาธารณูปโภคต่างๆ กระจุกอยู่ในตัวเมืองทั้งสิ้น จึงไม่สะดวกสำหรับอาจารย์และนิสิต ที่จะเดินทางไปใช้บริการ เช่น ซื้อหนังสือ เครื่องเขียน ซ่อมรถจักรยาน ส่งเสื้อผ้าไปซักรีด ฯลฯ ฯพณฯ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงมอบนโยบายไว้ว่า
          “….มหาวิทยาลัยจึงควรกันที่ไว้แห่งหนึ่ง เพื่อสร้างบริการเหล่านี้ให้เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และอาจร่วมมือกับเอกชนด้วยก็ได้ เรื่องนี้อาจครอบคลุมไปถึงการจัดตั้งที่ทำการไปรษณีย์และสาขาธนาคารออมสินด้วย และเมื่อจำเป็นอาจจัดตั้งโรงเรียนประถมศึกษาขนาดย่อมสำหรับบุตรหลานของเจ้าหน้าที่ในมหาวิทยาลัย…”
          ผลพวงแห่งการวางรากฐานในด้านบริการ ซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้นำมาปฏิบัติ คือ ประชากรของมหาวิทยาลัย และประชากรบริเวณใกล้เคียงได้ใช้บริการของที่ทำการไปรษณีย์สาขาย่อยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ธนาคารออมสิน สาขาดอยสุเทพ และธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาย่อยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตลอดจนการส่งบุตรหลานของตนเข้าเรียนในโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นอาทิ
 
ที่พักอาจารย์และศาสตราจารย์
 
          ในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยนั้น ความยากลำบากอยู่ที่การหาอาจารย์ และศาสตราจารย์ผู้สามารถ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคยิ่งมีความยากลำบากเป็นทวีคูณ จึงต้องพยายามจัดบริการสำหรับอาจารย์และศาสตราจารย์ให้อยู่ในระดับที่ดี เริ่มด้วยการจัดที่พักอาศัยและต้องจัดครอบคลุมถึงเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยอื่นๆด้วย ฯพณฯ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้พิจารณาเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง และรอบคอบว่าที่พักอาจารย์โสดจะต้องอยู่ภายในบริเวณวิทยาลัยเพื่อช่วยดูแลนิสิตในตอนเย็นตอนค่ำ ต้องมีที่พักอาจารย์และศาสตราจารย์ที่มีครอบครัวใหญ่ กลาง และเล็ก ที่พักอาจารย์ชาวต่างประเทศ และบ้านพักอธิการบดี ซึ่งควรเป็นที่จัดงานรับรองได้
          นอกจากนี้ ท่านยังมีแนวคิดในการจัดหาที่พักสำหรับอาจารย์ และศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยในพระนคร หรือบุคคลอื่นที่ไปทำการสอนเฉพาะวิชาระยะสั้นเป็นครั้งคราวหรืออาจมีการเชิญอาจารย์จากที่อื่นไปสอนวิชาชั้นสูง ที่มีผู้รู้น้อยหรือวิชาที่เกิดจากการค้นคว้าใหม่ๆอีกด้วย
 
ที่พักนิสิต
 
            ฯพณฯ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เป็นผู้ที่มีความรอบคอบ และหัวใจแห่งการเป็นครู ท่านพิจารณาเห็นว่าปัญหาเรื่องที่พักของนิสิตนั้นเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าไม่คิดแก้เสียแต่เริ่มแรกก็มักจะแก้ไม่ตก นิสิตที่มาจากต่างจังหวัดจะเที่ยวหาที่พักตามแต่จะหาได้ ถ้ามหาวิทยาลัยมีที่พักจำกัด ก็จะพักกับญาติห่างๆบ้าง เพื่อนฝูงบ้าง อยู่หอพักเอกชนบ้าง อาศัยวัดบ้าง เช่าบ้านรวมกันอยู่บ้าง บ้างก็จะย้ายไปย้ายมาไม่เป็นหลักแหล่ง ได้รับความลำบากนานาประการ ทั้งเรื่องการคมนาคม เรื่องอาหารการกิน
          ข้อสำคัญคือ บิดา มารดา หรือผู้ปกครองที่แท้จริงมิได้ตามอยู่ด้วย เพื่อให้ความรักและความเอาใจใส่คอยตักเตือนดูแล และช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า นิสิตจำนวนมากจึงมิได้ศึกษาเล่าเรียนตามควร ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ก่อหนี้สินรุงรัง ความยั่วยวนของสังคมทำให้เสื่อมเสียไป ปัญหาเหล่านี้ คงจะเกิดที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีก 5 - 6 ปี วิธีแก้คือ จัดหอพักให้เพียงพอ และทำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้เป็น Residential University โดยมีห้องต่างๆที่จำเป็น คือ ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว ห้องรับ-ประทานอาหาร สำนักงาน ห้องพยาบาล ห้องทำงานเวลากลางคืน ฯลฯ แต่จะเปลืองงบประมาณ และอาจทำไม่สำเร็จ จึงคิดหาวิธีร่วมมือกับเอกชนที่จัดตั้งหอพักในเวียง โดยวิทยาลัยเป็นผู้คัดเลือกนิสิต และจัดส่งให้อยู่หอเอกชนที่คัดเลือกไว้แล้ว สำหรับนิสิตที่เป็นชาวเชียงใหม่ก็ให้อยู่บ้าน แต่เตรียมแผนวางระเบียบไว้ว่าระหว่างเวลา 4 ปี ที่นิสิตจะต้องศึกษาตามหลักสูตรปริญญาตรี นิสิตจะอยู่หอพักในเวียงได้ไม่เกิน 2 ปี อีก 2 ปีต้องมาอยู่ในวิทยาลัย นิสิตชาวเชียงใหม่ให้อยู่บ้านได้ไม่เกิน 3 ปี อีก 1 ปีให้อยู่ในวิทยาลัย
          ปัญหาในการปกครองนิสิต ท่านก็พิจารณาไว้อย่างรอบคอบ เพราะในระหว่างเรียน คณบดีย่อมปกครองนิสิต แต่เมื่ออยู่หอพัก การปกครองฝ่ายหอพักย่อมต้องมี จึงเป็นสองฝักสองฝ่าย ถ้าจะยกให้หอพักปกครอง นิสิตทุกคณะก็ไม่ได้อยู่หอพัก แต่คณบดีก็ต้องเชี่ยวชาญด้านวิชาการเป็นใหญ่ น้อยนักจะได้นักวิชาการและนักปกครองในบุคคลเดียวกัน ในที่สุดจึงจัดรูปแบบการปกครองของมหาวิทยาลัยให้มีอธิการบดีเป็นหัวหน้า วิทยาลัยหนึ่งๆมีอธิการเป็นหัวหน้าปฏิบัติงานรับผิดชอบต่ออธิการบดี และอธิการมีหน้าที่ปกครองดูแลช่วยเหลือนิสิตทั้งด้านการศึกษาและความเป็นอยู่โดยทั่วไป เท่ากับเป็นผู้ปกครองทางโรงเรียนและผู้ปกครองทางบ้านพร้อมๆกัน คณบดีให้พ้นหน้าที่ปกครองคงปฏิบัติหน้าที่เฉพาะด้านวิชาการ
 
การเตรียมหลักสูตรการสอน
 
          ฯพณฯ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้วางรากฐานทางการศึกษาสำหรับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างทันสมัย ทัดเทียมอารยประเทศโดยครอบคลุมทั้งสาขาวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ รวมทั้งสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บัณฑิตของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นบัณฑิตที่สมบูรณ์
          “หลักสูตรปริญญาตรี ตามปกติกำหนดไว้ 4 ปี ซึ่งย่อมจะต้องมีข้อยกเว้นบ้าง เช่น แพทยศาสตร์ ต้องมีการเตรียมแพทยศาสตร์เสียก่อน 2 ปี เป็นต้น เวลาศึกษาตามหลักสูตร อักษรศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ 4 ปี นั้นควรจะเพียงพอ และถ้าจัดการสอนให้ดีก็ควรจะมีเวลาเหลือบ้าง เพราะในต่างประเทศหลายแห่งกำหนดเพียง 3 ปีเท่านั้น เวลาที่เหลือนั้นควรจะได้ใช้เป็นเวลาทำให้นิสิตมีความรอบรู้เสริมหลักสูตรปริญญาตรี สรุปความได้ว่านิสิตจะต้องเรียน 2 หลักสูตร ดังนี้
1. หลักสูตรวิชาเฉพาะเพื่อรับปริญญาตรี ซึ่งคณบดีเจ้าของหลักสูตรนั้นเป็นผู้จัดการสอนในนามมหาวิทยาลัย อาจารย์และศาสตราจารย์ที่สังกัดวิทยาลัยต่างๆ เป็นผู้สอนตามคณบดีกำหนด
2. หลักสูตรวิชาทั่วไปเพื่อทำให้นิสิตเป็นผู้รอบรู้ ซึ่งต่างวิทยาลัยต่างจัดสำหรับนิสิตในวิทยาลัยของตน อาจารย์และศาสตราจารย์ในวิทยาลัยเป็นผู้สอนตามที่อธิการจัดให้เรียนตามหลักสูตรของวิทยาลัยนี้
  ก. นิสิตเรียนวิชาเฉพาะเพื่อรับปริญญาใด จะขาดความรอบรู้ทางใด
  ข. พื้นความรู้เดิมของนิสิตคนใดขาดตกบกพร่องทางใดบ้าง ถ้านิสิตผู้ใดรอบรู้พอควรอยู่แล้ว อาจยกเว้นให้ได้หลายวิชา เพื่อเอาเวลาไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น
  ค. นิสิตหญิงกับนิสิตชายอาจต้องการความรอบรู้ต่างกันบ้าง มหาวิทยาลัยอาจทำการตกลง แบ่งเวลาให้นิสิตได้ศึกษา 2 หลักสูตร ดังนี้
 
ปีที่ 1
ปีที่ 2
ปีที่ 3
ปีที่ 4
ให้ใช้เวลาศึกษาหลักสูตรวิชาทั่วไป
50%
30%
10%
-
ให้ใช้เวลาศึกษาหลักสูตรปริญญาตรี
50%
70%
90%
100%
          ในภาคต้นของปีที่ 1 วิทยาลัยควรจัดสอนวิชาที่นิสิตทุกคนควรศึกษาเป็นวิชาบังคับ เช่น หลักธรรมในศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ฯลฯ ต่อเมื่อรู้จักและดูพื้นความรู้เดิมของนิสิตแล้วจึงจัดสอนวิชาอื่นๆ ในภาคที่ 2 เช่น หลักกฎหมายเบื้องต้น หลักเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น วิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวัน เป็นต้น”
 
ชื่อของมหาวิทยาลัย
 
          อาจกล่าวได้ว่าการตั้งชื่อมหาวิทยาลัยเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมิใช่น้อยด้วยธรรมเนียมปฏิบัติแต่เดิมมานั้นมักตั้งชื่อมหาวิทยาลัยตามพระนามขององค์พระมหากษัตริย์ผู้พระราชทานกำเนิดสถาบันนั้น หรือมิเช่นนั้นก็ตั้งชื่อจำเพาะตามสาขาวิชาหลักที่มหาวิทยาลัยรับผิดชอบ แต่สำหรับการได้มาซึ่งชื่อของมหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นใหม่แห่งนี้ดูเหมือนว่าเป็น “การปฏิวัติ” อีกอย่างหนึ่ง ซึ่ง ฯพณฯ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้น ได้บันทึกไว้ใน บันทึกของปม. เรื่องการจัดเตรียมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในโครงการพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาค ภาคศึกษา 8 ความตอนหนึ่งว่า
          “…..ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้สั่งไว้ว่า รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลปฏิวัติให้กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ปฏิวัติงานให้เข้าสู่สภาพที่ควร ในทุกๆกรณี ถ้าเราเรียกชื่อมหาวิทยาลัยที่จังหวัดเชียงใหม่ว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็จะเป็นการปฏิวัติแล้ว คือเรียกชื่อมหาวิทยาลัยตามชื่อเมือง เป็นแห่งแรกในประเทศไทย ชื่อ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพราะมาก ขออย่าให้ใครมาแก้ไขเป็นอย่างอื่นเลย....”
          ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยที่ถือกำเนิดขึ้นจากความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริงและเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในภูมิภาคของประเทศไทย ณ จังหวัดเชียงใหม่ จึงมีชื่อว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตราบจนกระทั่งปัจจุบัน
 
ตั้งหลักชัยการศึกษา
 
            นายจรัส มหาวัจน์ ผู้มีบทบาทสำคัญอีกท่านหนึ่งในการดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้บันทึกไว้ในหนังสือชีวิตและงานว่า
        “...โดยที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นบ่อเกิดของสรรพวิทยาการทั้งหลาย เป็นบ่อน้ำวิเศษที่จะชำระล้างกิเลสทั้งหลายให้หมดสิ้น ประชาราษฎรทุกผู้มีจิตคิดเห็นแต่ประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง บ้านเมืองจะประสบแด่สวัสดิ มงคลผลวิเศษ ดังปรากฏมาแล้วในอดีต
 
          ข้าพเจ้าจึงมีความคิดขึ้นมาว่า หากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะมีสิ่งที่เป็นมงคลอันเกี่ยวกับวิทยาการความรู้ทั้งหลาย และเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวเป็นมิ่งขวัญแก่ผู้อาศัย ณ ที่ชัยภูมิแห่งนี้ จึงปรารภต่อบรรดาคณะ ม.ช.ม.ซึ่งทำงานร่วมกัน ต่างก็เห็นควรด้วย จึงได้นำความนี้ไปกราบเรียนขอความเห็นต่อ ฯพณฯ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ประธานการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งท่านก็ไม่ขัดข้อง และกรุณาตั้งชื่อวัตถุมงคลนั้นว่า “หลักชัยการศึกษา”
          ถึงวันที่ 15 กันยายน 2505 เป็นวันดี ชาวคณะ ม.ช.ม.ก็ประกอบพิธีตั้งหลักชัยการศึกษา โดยมีนาวาอากาศเอก ประสิทธ กุสุมารทัต เป็นเจ้าพิธี ม.ล.ปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน การประกอบพิธีดำเนินไปครบถ้วนตามแบบอย่างที่มีมาแต่โบราณทุกประการ...”
 
พิธีวางศิลาฤกษ์
 
           หลังจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีพิธีตั้งหลักชัยการศึกษา ต่อมาจึงได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ปัจจุบัน คือศาลาธรรม) ในวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2506 โดยมี ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานวางศิลาฤกษ์ และได้กล่าวคำปราศัย มีใจความสำคัญ ดังนี้
   
          “...ข้าพเจ้ามีความยินดีและรู้สึกปลาบปลื้มใจเป็นอันมาก ที่ได้มีโอกาสมาเยี่ยมเยือนพี่น้องชาวเชียงใหม่ และได้มาประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์มหาวิทยาลัยต่างจังหวัดแห่งแรกของประเทศไทยวันนี้ ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายและพี่น้องชาวเชียงใหม่ คงจะจำคำกล่าวของข้าพเจ้าในคราวเดินทางมาวางศิลาฤกษ์อาคารคณะแพทยศาสตร์ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ปีกลายนี้ได้ว่า ข้าพเจ้าตั้งปณิธานที่จะได้เห็นการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขึ้น เพื่อให้เป็นสถานการศึกษาของบรรดากุลบุตรกุลธิดาในภาคเหนือนี้โดยเร็วที่สุด ซึ่งบัดนี้ก็ได้ดำเนินการมานับว่าสมดังเจตนาขั้นหนึ่งแล้ว...”