นายสุนทร หงส์ลดารมภ์ : อธิการบดีมหาวิทยาลัย ลำดับที่ 2
   
            "หลักการทำงานของผมก็คือ หนึ่ง ความซื่อสัตย์สุจริต สองความตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำงานนั้นให้รุดหน้าต่อไปและมีชื่อเสียง และอีกอย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญก็คือเราต้องมีความสามัคคีระหว่างคณาจารย์ทั้งหลาย... ต้องพยายามหาอาจารย์ดีๆมาอยู่ช่วยสอนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ อันนี้สำคัญมากและในเวลาเดียวกันผมคิดว่าอธิการบดีแต่ละท่านควรจะมีงานด้านสังคมเพื่อให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไม่ได้ผลิตเฉพาะนักวิชาการเท่านั้น แต่ผลิตคนซึ่งมีทั้งวิชาการและสังคมที่ดีเพื่อจะได้รับใช้ส่วนรวม... สำหรับนักศึกษาที่ดีอันดับแรกต้องเอาใจใส่วิชาการของตนเองอย่างเต็มที่ และควรจะคำนึงถึงสังคมบ้างหรือมากพอควร เพราะอย่างน้อยเวลาที่เราสำเร็จจากมหาวิทยาลัยไปแล้วเราจะต้องไปอยู่ในสังคม ถ้าเราไม่รู้จักสังคมและไม่สนใจสังคม เราอาจจะไม่มีผลสำเร็จในชีวิต? คิดว่าเท่าที่มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการมาแล้ว น่าภูมิใจคือเป็นความสำเร็จที่ดีที่มหาวิทยาลัยได้ผลิตนักศึกษาออกมาและได้ปฏิบัติงานทั้งทางราชการและทางธุรกิจได้ผลดีเยี่ยม..."
     
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ บุญสม มาร์ติน : อธิการบดีมหาวิทยาลัย ลำดับที่ 5
   
            "หลักการทำงานคือ ทันคน ทันเหตุการณ์ ทันสมัย .. คนเราจะอยู่ได้ต้องเก่ง ไม่เก่งอยู่ไม่ได้ มหาวิทยาลัยก็เหมือนกัน ไม่มีเงินมาfeed ไม่ได้ แต่จะมีเงินมา feed นั้นต้องมีวิธี... ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวสำคัญ แล้วนอกจากนั้นจะ research อะไรก็แล้วแต่ เรามีเยอะทั้งไม้ ข้าว ผลไม้ แร่ที่จะทำ researchกัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ต้องรักษาความเป็นมหาวิทยาลัย คือหนึ่งผลิตบัณฑิตที่มีความรู้คู่คุณธรรม สองมหาวิทยาลัยต้องเปิดResearch สามมหาวิทยาลัยต้องเป็นSourceสำคัญที่จะออก Information"
     
ศาสตราจารย์ นาวาอากาศเอก นายแพทย์ ตะวัน กังวานพงศ์ : อธิการบดีมหาวิทยาลัย ลำดับที่ 6
   
            "การบริหารงานสำคัญที่สุดเราต้องรู้ต้นทุน ต้นทุนนี้รวมถึงทรัพยากรและบุคลากร facility ต่างๆเรามีอะไรอยู่บ้าง งานที่เราต้องรับผิดชอบมีอะไรบ้าง แล้วจะปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพขึ้นได้อย่างไร เพื่อที่จะให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งเอาไว้ อีกประการหนึ่งในฐานะที่เราเป็นมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ทำแต่เรื่องที่ตลาดต้องการอย่างเดียว เราต้อง Train ในเรื่องความเป็นมนุษย์ ความคิดอ่านและศีลธรรม เราต้องช่วยกันสร้างวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยให้ชัดเจน เอกลักษณ์ ทุกคนมุ่งทำงานเพื่อมหาวิทยาลัย และเมื่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งขึ้นมาจากการเรียกร้องของชาวบ้าน ในความคิดของผมควรจะต้องเป็นแบบ community university คือมุ่งเพื่อที่จะพัฒนาชุมชน"
     
ศาสตราจารย์ เรือโท นายแพทย์ยงยุทธ สัจจวาณิชย์ : อธิการบดีมหาวิทยาลัย ลำดับที่ 7
   
            "ปรัชญาในการทำงานคือ หนึ่งทำงานเป็นทีม สอง เราต้องทำงานโดยวิธีรุกอย่าคิดทำแค่วิธีรับ...การบริหารงานในอดีต มหาวิทยาลัยทำหน้าที่จัดการเรียนการสอนตามนโยบายของแต่ละมหาวิทยาลัยเท่านั้น สำหรับผมมองว่ามหาวิทยาลัยต้องทำหน้าที่อย่างน้อยสามอย่างคือ หนึ่งให้การเรียนการสอน พัฒนาครูอาจารย์เพื่อให้ก้าวไปสู่การเรียนการสอนที่ดี สองให้สำรวจการบริการที่มหาวิทยาลัยสามารถให้ประชาชนได้ สามคือการวิจัย มหาวิทยาลัยต้องส่งเสริมครูอาจารย์ด้านการวิจัย การเพิ่มคุณวุฒิ เป็นความสำคัญ และการทำงานต้องเป็นทีม ต้องหาคนที่เหมาะสมกับงาน อาจารย์มีความสำคัญมากหากอาจารย์ไม่มีคุณวุฒิเพิ่มขึ้นจะอยู่ได้อย่างไร ปริญญาตรีสอนปริญญาตรีก็จะยุ่ง แล้วคำว่า University ก็คือ Universe หมายถึงจักรวาล อาจารย์ต้องมาจากหลายๆแห่งถ้ามาจากที่เดียวก็จะสอนแบบเดียวไม่มีการเปรียบเทียบกัน..."
     
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ อาวุธ ศรีศุกรี : อธิการบดีมหาวิทยาลัย ลำดับที่ 10
   
            "หลักการทำงานคือต้องพัฒนาบุคคลให้มีความสามารถสูง เพื่อที่จะได้พัฒนางานที่เขาถนัดให้ก้าวหน้ามากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ฝ่ายบริหารจะเข้าไปช่วยดูแลปัญหาและหาทางสนับสนุนให้เต็มที่เท่าที่จะมากได้... มหาวิทยาลัยจะก้าวไปข้างหน้าได้ เรื่องของการบริหารพัฒนาบุคคลจะต้องเป็นหัวใจหลัก เราจะต้องมีความสามัคคีร่วมกันทำงาน ต้องนึกถึงมหาวิทยาลัยก่อนที่จะนึกถึงเรื่องส่วนตัว และการที่จะทำให้มหาวิทยาลัยก้าวหน้าได้ ผู้บริหารต้องรับฟังคนอื่นๆ ต้องให้คนอื่นเข้ามามีส่วนพัฒนามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเป็นของชุมชน ไม่ใช่ของเรา มหาวิทยาลัยมีหน้าที่จะพัฒนาชุมชนด้วย และจริงๆแล้วเขาเป็นเจ้าของเท่าๆกับเราเป็นเจ้าของ? สิ่งที่อยากเห็นมาตลอดคือ พอใครเขาพูดถึงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แล้วหมายถึงอะไรที่ดีๆ ไม่ใช่บริเวณสวยเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่อากาศดีอย่างเดียว แต่เป็นการหมายรวมถึงสองสามอย่างเข้าด้วยกัน... "
     
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย : อธิการบดีมหาวิทยาลัย ลำดับที่ 11
   
            "ปรัชญาการทำงานของผมคือ ทำให้เต็มที่โดยอย่าหวังผลตอบแทน... ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่เกิดขึ้นได้เพราะการเรียกร้องของประชาชน เราต้องกลับไปสู่ประชาชนเสมอ มหาวิทยาลัยต้องสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน... สำหรับความสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับมหาวิทยาลัยอื่นๆ หรือแม้แต่โรงเรียนประถม มัธยม ผมคิดว่ามช.ควรจะเป็นศูนย์กลางการศึกษาภาคเหนือ คอยเป็นพี่เลี้ยงและเป็นผู้ประสานงานให้แก่มหาวิทยาลัยอื่น... ในภาวะข้างหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ การสร้างคุณภาพต้องใช้เงิน ต้องมีแผนหาเงินเพื่อจะได้มาสร้างคุณภาพ ไม่มีการสร้างคุณภาพไหนที่ไม่ต้องลงทุน... ที่ผ่านมามช. พัฒนาอย่างมาก แต่หากจะมองไปข้างหน้า อาจารย์ต้องทันวิชาการของโลก มช.ต้องหาวิธีทุกวิธีที่จะให้อาจารย์เข้าสู่ความรู้ที่ทันสมัยที่สุดตรงนี้ถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนว่าความรู้ที่เราถ่ายทอดให้กับเด็กยังทันสมัย ทันเหตุการณ์หรือล้าหลังไปแล้ว... ในเรื่องความสามารถในการวิจัยถึงแม้เราจะอยู่ในอันดับสาม อันดับสี่ในระดับประเทศ แต่ถ้าในระดับภูมิภาคเรายังห่างมากๆ เราต้องลงทุนเรื่องการวิจัยให้มาก โดยเฉพาะวิจัยที่เป็นวิจัยประยุกต์ วิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม... "
     
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิพนธ์ ตุวานนท์ : อธิการบดีมหาวิทยาลัย ลำดับที่ 13
   
            "หลักในการบริหาร ต้องเป็นการบริหารจัดการยุคใหม่ ระบบต้องโปร่งใส เราต้องสามารถประเมินได้ นั่นคือเน้นในเรื่องผลที่ออกมาจะต้องมีทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผลสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา และผู้บริหารต้องรับผิดชอบ ผมมีKeyword คือ responsibility accountability urgency effectiveness and evaluation อันนี้คือหัวใจของการบริหาร การบริหารจัดการนี้สิ่งที่สำคัญก็คือต้องซื่อสัตย์สุจริต อีกข้อหนึ่งคือ ทำอย่างไรที่จะบริหารด้วยความเห็นร่วม ทำอย่างไรให้มช.เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศและของนานาชาติ ให้เป็นที่ยอมรับของทุกสถาบัน ฉะนั้นก็คือต้องมีคุณภาพอย่างเดียวถึงจะให้ทันเขาได้? สำหรับบัณฑิตมช.นั้นต้องรักษาชื่อเสียงของมช. เราจะมีความภาคภูมิใจเป็นลูกช้างก็เพื่อชื่อเสียงของมช.จึงอยากให้ลูกช้างทุกคนมีความภาคภูมิใจและปกป้องชื่อเสียงนี้"