ประวัติศาสตราจารย์สุกิจ นิมมานเหมินท์

         นายสุกิจ นิมมานเหมินท์ เกิดที่ตำบลช้างม่อย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๙ เป็นบุตรนายหยี นางจันทร์ทิพย์ นิมมานเหมินท์ แรกเข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนชัวย่งเส็งอนุกูลวิทยา สอบได้มัธยม ๑ แล้วเรียนต่อที่ยุพราชวิทยาลัยจนจบชั้นมัธยม แล้วเข้ากรุงเทพฯ เรียนต่อที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ปลาย พ.ศ. ๒๔๖๘ รับทุนบิดามารดาและญาติไปเรียนในประเทศอังกฤษ สำเร็จปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยลอนดอน

       ทั้งได้ประกาศนียบัตรวิศวกรรมโยธาจากสถาบันแบตเตอร์ซีโพลิเทคนิค เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ อีกปีหนึ่งได้ปริญญาโทวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลอนดอน
กลับเมืองไทยเข้ารับราชการเป็นอาจารย์สอนวิชาฟิสิกส์และไฮโดรลิกส์ที่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ ทำหน้าที่บรรณารักษ์ห้องสมุดและนำระบบใหม่ในการจัดห้องสมุดมาใช้ ต่อมาเป็นเลขานุการคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ พ.ศ. ๒๔๘๑ ทำหน้าที่เลขาธิการจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๔๘๓ รักษาการคณบดีคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์แทนคนเดิมซึ่งถึงแก่กรรม และเป็นหัวหน้าแผนกคณิตศาสตร์ด้วย

       ขณะเดียวกันเป็นอาจารย์พิเศษที่โรงเรียนนายร้อยเทคนิคทหารบกโดยไม่ขอรับค่าสอนและเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย
เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาเกิดขึ้น รัฐบาลเห็นความสามารถและคุณวุฒิจึงสั่งย้ายสังกัดไปเป็นอธิบดีกรมอาชีวศึกษากระทรวงศึกษาธิการ เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๘๙ แล้ว ได้รับเลือกตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นสมาชิกพฤฒสภา และพ้นตำแหน่งเมื่อเกิดรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐
สมัครเป็นผู้แทนราษฎรของจังหวัดเชียงใหม่ และได้รับเลือกเมื่อ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๑ เป็นรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงศึกษาธิการ ถึง ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๒ จึงพ้นตำแหน่งตามความในบทเฉพาะกาล มาตรา ๑๘๖ แห่งรัฐธรรมนูญ และเมื่อมีรัฐบาลใหม่แล้วก็เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ถึง ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ จึงพ้นอายุของรัฐบาลตามความในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม ไม่กี่วันต่อมาได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอีก แต่อยู่ในตำแหน่งราวสองเดือนครึ่งก็ลาออกด้วยเหตุผลไม่เห็นชอบในวิธีปฏิบัติราชการที่มีอำนาจอื่นแทรกแซงการดำเนินงานของกระทรวง

       จากการเลือกตั้ง ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๐ ได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎรของจังหวัดเดิมอีก ปีเดียวกันนี้ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการจนเกิดรัฐประหาร ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๐ แต่ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการอย่างเดิม จากการเลือกตั้ง ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ขณะเป็นหัวหน้าพรรคสหภูมิ อันมีสมาชิกพรรคได้รับเลือกตั้งเป็นจำนวนมากที่สุด ก็ได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎรของจังหวัดเชียงใหม่อีก จึงได้เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ จนเกิดรัฐประหาร ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๑
ล่วงมา ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ รัฐบาลสมัยนั้นมอบหน้าที่ราชการพิเศษให้เป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศอินเดีย และเป็นอัครราชทูตไทยประจำเนปาล อัฟกานิสถาน ศรีลังกา จนถึง ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ จึงย้ายต่อไปเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศสหรัฐอเมริกา และได้ออกจากราชการเหตุสูงอายุเมื่อ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๐
พ้นอายุราชการแล้วยังเข้ารับหน้าที่เลขาธิการขององค์การซีเมส อันเป็นสำนักงานของบรรดารัฐมนตรีศึกษาธิการแห่งภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๑๑ แล้ว ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ จนขอลาออก เมื่อ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๔ หลังจากนั้นไม่กี่วันมีการปฏิวัติเงียบเกิดขึ้น แต่ยังได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕

       ความผันแปรทางการเมือง เมื่อ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นเหตุให้ได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีหลังจากนั้น และอยู่ในตำแหน่งนี้จนสิ้นอายุของรัฐบาลชุดนั้น
นายสุกิจ นิมมานเหมินท์ ยังได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่อื่นๆอันเป็นประโยชน์เกื้อกูลการศึกษาของชาติอีกหลายอย่าง เป็นต้นว่า เป็น

  • นายกราชบัณฑิตยสถาน
  • นายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • ประธานกรรมการการศึกษาแห่งชาติ
  • ประธานกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย
  • ประธานกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์
  • ประธานกรรมการโครงการมหาวิทยาลัยทางอากาศ
  • ประธานอาศรมวัฒนธรรมไทย-ภารต
  • นายกสมาคมเพื่อรักษาสมบัติวัฒนธรรม
  • นายกสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม
  • นายกสมาคมเกียรตินิยมอาชีวศึกษา
  • อุปนายกสยามสมาคม

  • ฯลฯ
  • ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ คือ
  • มหาวชิรมงกุฎ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๐๐
  • ทุติยจุลจอมเกล้า ๕ พฤษภาคม ๒๕๐๓
  • ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ๕ พฤษภาคม ๒๕๐๗
  • มหาปรมาภรณ์ ช้างเผือก ๕ ธันวาคม ๒๕๐๗
  • รัตนาภรณ์ ชั้น ๓ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๑๐
  • ดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ๒๕๑๔

         แต่งงานกับนางสาวอนงค์ อิศรภักดี มีบุตรด้วยกันคือ นางอรสา กสิภาร์ นายอุสุม นิมมานเหมินท์ และนายอัศวิน นิมมานเหมินท์ เมื่อภาวะครอบครัวมีอันเปลี่ยนไปตามกฎหมาย จึงแต่งงานกับ ม.ล. บุปผา กุญชร ซึ่งต่อมาได้ถึงแก่กรรมขณะนายสุกิจ นิมมานเหมินท์ เป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศอินเดีย ต่อจากนั้นได้แต่งงานกับนางสาวจินดา สุกัณศีล มีบุตรด้วยกันคนหนึ่งคือ เด็กชายกฤดา นิมมานเหมินท์

         นายสุกิจ นิมมานเหมินท์ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๙ รวมอายุได้ ๖๙ ปี กับ ๖๙ วัน ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศไม้สิบสอง และพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์งานศพเป็นของหลวง จนถึงงานพระราชทานเพลิงศพ ในวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๙