|
|
|
|
|
|
ขาสองต้องยืนหยัด |
อยู่ในวัฒนธรรมไทย |
ตาสองมองออกไป |
ยังโลกใหญ่มโหฬาร |
หูสองว่องสดับ |
ส่วนดีรับปรับกิจการ |
มือสองต้องทำงาน |
รวมถึงด้านการวิจัย |
|
|
คำประพันธ์บทนี้
ฯพณฯ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ประพันธ์ให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเป็นคติประจำใจ
ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของปูชนียบุคคลท่านนี้เป็นอย่างยิ่ง |
|
|
|
ฯพณฯ
หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เกิดวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2446 เป็นบุตรของ เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี
(ม.ร.ว. เปีย มาลากุล) และท่านผู้หญิงเสงี่ยม พระเสด็จ- สุเรนทราธิบดี
(สกุลเดิม วสันตสิงห์) ท่านสมรสกับท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา
ท่านทั้งสองไม่มีบุตรธิดา ฯพณฯ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี เกียรตินิยมทางภาษาสันสกฤต
(B.A.Honors) และปริญญาโททางอักษรศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย Oxford ประเทศอังกฤษ
หลังจากจบการศึกษาแล้ว ท่านได้เข้ารับราชการและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสามัญศึกษา
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตามลำดับ
|
ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
งานที่สำคัญที่ ฯพณฯ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ได้ดำเนินงานตามนโยบายและสร้างผลงานที่ภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง
คือ การก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์
ซึ่งมีการเตรียมงานและวางรากฐานการบริหารและการจัดการที่มั่นคง จนทำให้มหาวิทยาลัยทั้งสองเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในปัจจุบัน |
|
ในการดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น
ฯพณฯ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ได้บันทึกไว้ว่า |
...การตั้งมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค
ตามความเรียกร้องของประชาชน ที่ประชุมเห็นว่าน่าจะจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่จังหวัดเชียงใหม่...ด้วยเป็นความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง... |
|
พ.ศ.
2503 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่
เพื่อให้เปิดทำการสอนใน พ.ศ. 2507 ซึ่งจะเป็นมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาคแห่งแรก
ฯพณฯ ม.ล.ปิ่น มาลากุลในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ซึ่งท่านได้ใช้เวลาเตรียมการอย่างสุขุมรอบคอบ เป็นขั้นตอน มีความชัดเจนในการดำเนินงาน
ตั้งแต่การกำหนดความมุ่งหมายในการดำเนินงาน หน้าที่และวงงาน นโยบายการจัดตั้ง
การสำรวจพื้นที่ การวางผังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การจัดเตรียมหลักสูตรและการสอน
และการเตรียมอาคารสถานที่ |
|
ในส่วนของการวางแผนการจัดเตรียมอาคารสถานที่แห่งนี้
สะท้อนให้เห็นวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ของฯพณฯ ม.ล. ปิ่น มาลากุล ต่อการขยายตัวในอนาคตของมหาวิทยาลัย |
|
แนวคิดของท่าน
จะคำนึงถึงทั้งด้านการบริหาร การเรียนการสอน การอำนวยความสะดวกต่อนักศึกษา
อาทิเช่น ตึกอำนวยการ หอสมุดกลาง สนามกีฬา ที่พักสำหรับอาจารย์ หอพักนักศึกษา
โรงละคร (Amphi Theater) บริการอื่นๆ สำหรับอาจารย์ และ นักศึกษา ได้แก่
ไปรษณีย์ ธนาคาร โรงเรียนประถมศึกษาขนาดย่อมสำหรับบุตรหลานและเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย
ซึ่งเป็นผลพวงให้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีที่ทำการไปรษณีย์ ธนาคาร โรงเรียนสาธิต
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้บริการประชากรของมหาวิทยาลัย จวบจนปัจจุบัน |
|
ฯพณฯ
ม.ล.ปิ่น มาลากุล ได้วางรากฐานทางการศึกษาสำหรับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างทันสมัย
ทัดเทียมอารยประเทศ โดยครอบคลุมทั้งสาขาวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ รวมทั้งสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง
เพื่อให้บัณฑิตของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นบัณฑิตที่สมบูรณ์ |
|
เมื่อ
ฯพณฯ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้ปฏิบัติภารกิจในการดำเนินการก่อตั้ง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์แล้ว
ท่านยังคงมีความผูกพันกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยในระยะแรกท่านยังได้ปฏิบัติภารกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่ง
คือ การได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ซึ่งนับเป็นเรื่องสำคัญยิ่งประการหนึ่งที่ทำให้กิจการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว |
|
ในปีพุทธศักราช
2516 สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในคราวประชุมเมือวันที่ 24 มกราคม พ.ศ.
2516 ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
(ศึกษาศาสตร์) แก่ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ในฐานะเป็นผู้ที่เพียบพร้อมด้วยคุณวุฒิและความสามารถที่สูงส่ง
ได้อุทิศกำลังกายและกำลังความคิดในการพัฒนาการศึกษาของชาติอย่างแท้จริง
อีกทั้งยังเป็นผู้ที่มีความศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อการศึกษาของชาติ พยายามส่งเสริมอาชีพ
สวัสดิการและวิทยฐานะของครูให้ดีขึ้น ได้แสดงเจตนารมณ์ในการส่งเสริมความก้าวหน้าทางการศึกษาอยู่เสมอ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการดำเนินการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีส่วนสำคัญ
ริเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
และดำรงตำแหน่งกรรมกราสภามหาวิทยาลัยอีกประการหนึ่งด้วย |
|
ในปีพุทธศักราช
2530 ในโอกาสที่ ฯพณฯ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล มีอายุครบ 7 รอบ 84 ปี และในฐานะที่ท่านเป็นบุคคลสำคัญในการดำเนินงานจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่รำลึกถึงตลอดมา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงได้จัดงาน
วันกตเวทิตาคุณ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ขึ้นในวันที่
22 กันยายน พ.ศ. 2530 |
|
ในปีพุทธศักราช
2532 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีนโยบายส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยเป็นศูนย์ทางศิลปวัฒนธรรมของล้านนา
ตลอดจนมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น มหาวิทยาลัยจึงประสงค์จะจัดสร้างหอศิลป์เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์และแหล่งความรู้ในทางศิลปวัฒนธรรมให้แก่คณาจารย์
ข้าราชการ นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ฯพณฯ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล จึงได้มอบเงินจำนวน
750,000 บาท เป็นทุนในการดำเนินงานมหาวิทยาลัยจึงได้ปรับปรุงอาคารสโมสรนักศึกษาเดิมให้เป็นหอศิลป์
และใช้ชื่อว่า หอศิลป์ปิ่นมาลา และมหาวิทยาลัยได้กราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดหอศิลป์ปิ่นมาลา
ในวันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 เวลา 9.00 น. |
|
ในปีพุทธศักราช
2532 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ดำเนินการปรับปรุงหอศิลป์ปิ่นมาลาและจัดทำเป็นหอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(หอศิลป์ปิ่นมาลา) เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมและให้ความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของมหาวิทยาลัย
และใช้เป็นสถานที่ในการจัดนิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่ง
ในการจัดทำหอประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้นได้กำหนดให้มีบริเวณหนึ่งที่จัดทำเป็นหอเกียรติคุณ
(Hall of Fame) สำหรับบุคคลที่มีคุณูปการต่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบุคคลท่านแรกที่มหาวิทยาลับได้เลือกสรรเพื่อประกาศยกย่องให้ปรากฏในหอเกียรติคุณ
คือ ฯพณฯ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ซึ่งมหาวิทยาลัยได้จัดทำประติมากรรมรูปเหมือน
ฯพณฯ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เทคนิคบรอนซ์ ขนาดสูง 65 เซนติเมตร กว้าง
35 เซนติเมตร โดยได้รับความอนุเคราะห์จากมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยให้อาจารย์ถนอมจิตร์
ชุ่มวงค์ อาจารย์ประจำภาควิชาประติมากรรม คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์
เป็นผู้ดำเนินการ |
|
การดำเนินการดังกล่าวเพื่อเป็นการแสดงกตเวทิตาคุณที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
มีต่อ ฯพณฯ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล และเป็นอนุสรณ์ให้ชนรุ่นหลังได้รำลึกถึงผู้มีพระคุณสืบไป |