Untitled Document
 
 
 ปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ปีการศึกษา 2557-2558
 
ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ประสิทธิ์ ฟูตระกูล
 
สาขาวิชา
          ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาแพทยศาสตร์
คำประกาศเกียรติคุณ
          ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ประสิทธิ์ ฟูตระกูล สำเร็จการศึกษา แพทยศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๐๗ American Academy of Pediatrics University Kansas Medical Center จากประเทศสหรัฐอเมริกา พ.ศ. ๒๕๐๙ Fellow in Renal Metabolic Diseases, University Oregon Medical School พ.ศ. ๒๕๑๑ Subspecialty American Academy of Pediatric Nephrology พ.ศ. ๒๕๒๒ เคยดำรงตำแหน่งกรรมการสภากาชาดไทย พ.ศ. ๒๕๑๓-๒๕๑๕ ศาสตราจารย์ ระดับ ๑๑ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๓๗ และกรรมการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานสำนักวิทยาศาสตร์ คณะกรรมการส่งเสริมกิจการสำนักงานราชบัณฑิตยสถาน ประธานคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในกลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และประธานกรรมการสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ประสิทธิ์ ฟูตระกูล ได้รับการพิจารณาคัดเลือกเป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี ๒๕๔๒ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นผู้อุทิศตนให้กับงานวิจัยด้านโรคไตชนิดต่างๆ โดยศึกษาถึงกลไกนอกระบบภูมิคุ้มกันในโรคไต และสร้างความรู้ใหม่เกี่ยวกับภาวะเลือดหล่อเลี้ยงไตพร่อง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำลายไตในผู้ป่วยโรคไตอักเสบเรื้อรัง และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาวะเลือดหล่อเลี้ยงไตพร่องกับการทำลายของเนื้อไต โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยเนพโฟรลิสในประเทศไทยอย่างจริงจัง ซึ่งศึกษามาเป็นเวลานานกว่า ๓๐ ปี จนผลงานวิจัยเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ และได้นำองค์ความรู้มาประยุกต์รักษาผู้ป่วยโรค ไตอักเสบเรื้อรังทั้งหลาย โดยยึดหลักอริยสัจสี่ของพระพุทธองค์ ด้วยการใช้กลวิธีการเพิ่มปริมาณเลือดหล่อเลี้ยงไต โดยให้ยาออกฤทธิ์สลายความผิดปกติที่พบในผู้ป่วยโรคไต ผลการรักษาที่ประมวลจากการติดตามเป็นเวลา ๓๐ ปี พบว่าวิธีการรักษาโดยยึดหลักแนวคิดดังกล่าวสามารถช่วยป้องกันภาวะไตวายเรื้อรังขั้นสุดท้ายได้ดีกว่าการรักษา โดยวิธีปฏิบัติทั่วไป ที่ละเลยความสำคัญของภาวะเลือดพร่องในการทำลายไตอย่างเด่นชัด ซึ่งเป็นการมองปัญหาที่เป็นปัจจัยการตายของเนื้อไตในมุมมองที่แตกต่างไปจากการมองทั่วไปตามแนวคิดตะวันตก โดยมิได้มองเฉพาะที่เนื้อไตกับการอักเสบเท่านั้น แต่มองเนื้อไตควบคู่กับปริมาณเลือดที่หล่อเลี้ยงไตในลักษณะสมดุลธรรมชาติ จึงเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อวงการโรคไต และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษา ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ประสิทธิ์ ฟูตระกูล ได้ให้ความช่วยเหลือคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ได้รับตำแหน่งทางวิชาการ ด้วยการเป็นคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ ถึงปัจจุบัน ซึ่งรับผิดชอบเป็นประธานคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในกลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ส่วนใหญ่รับดูแลผู้เสนอขอตำแหน่งศาสตราจารย์และศาสตราจารย์ระดับ ๑๑/ศาสตราจารย์ (เชี่ยวชาญพิเศษ) โดยที่ผ่านมาได้รับผิดชอบ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จำนวน ๗ ราย รองศาสตราจารย์ จำนวน ๕๙ ราย ศาสตราจารย์ จำนวน ๓๐ ราย ศาสตราจารย์ระดับ ๑๑/ศาสตราจารย์ (เชี่ยวชาญพิเศษ) จำนวน ๘ ราย ศาสตราจารย์ที่อยู่ระหว่างโปรดเกล้าฯ จำนวน ๕ ราย และศาสตราจารย์อยู่ระหว่างการพิจารณา จำนวน ๙ ราย ด้วยความรู้ความสามารถ ความอดทน และประสบการณ์ในการประชุมร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อช่วยเหลือคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ ยังประโยชน์ต่อวงวิชาการอย่างยิ่ง โดยเหตุที่ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ประสิทธิ์ ฟูตระกูล เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ทุ่มเทให้กับงานวิชาการและงานวิจัยด้านโรคไตชนิดต่างๆ อย่างต่อเนื่อง มีผลงานวิจัยเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ มีจริยธรรมและคุณธรรมของนักวิจัย มีความมุ่งมั่นในวงการวิชาการอันเป็นประโยชน์ยิ่งเป็นที่ประจักษ์ สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงมีมติให้ได้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาแพทยศาสตร์ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป