Untitled Document
 
 
 ปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ปีการศึกษา 2552-2553
 
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทัศน์ ฟู่เจริญ
 
สาขาวิชา
          ปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
คำประกาศเกียรติคุณ
          ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทัศน์ ฟู่เจริญ สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วุฒิบัตร (อายุรศาสตร์) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และอนุมัติบัตร (โลหิตวิทยา) คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการวิจัยธาลัสเมีย สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดล รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฝ่ายวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล และอนุกรรมการด้านการแพทย์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ President, Asian Network for Clinical Laboratory Standardization and Harmonization ปัจจุบันดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ระดับ ๑๑ ปฏิบัติหน้าที่ในโครงการวิจัยธาลัสเมีย สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล คณะผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันและควบคุมโรคธาลัสเมีย กระทรวงสาธารณสุข คณะทำงานสภาวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ กรรมการและประธานฝ่ายวิชาการ มูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสเมียแห่งประเทศไทย เลขานุการของ ASEAN Thalassemia Society Temorary Advisor ของ Genetic Programmer องค์กรอนามัยโลก อาจารย์พิเศษและอาจารย์ควบคุมวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาในคณะ/สถาบันต่างๆ ของมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลงานดีเด่นที่แสดงถึงความสำเร็จอันยอดเยี่ยมและเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการและวิชาชีพ ดังนี้ ๑. ความเข้าใจเกี่ยวกับความผิดปกติของยีนที่ทำให้เกิดโรคธาลัสเมียชนิดต่างๆ ในคนไทย จากความรู้พื้นฐานดังกล่าวได้นำไปสู่การตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์โดยวิธีการตรวจหาความผิดปกติของยีน ได้เป็นกลุ่มแรรกในประเทศ สามารถให้บริการการตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์ได้ตั้งแต่อายุครรภ์เพียง ๘ – ๑๐ สัปดาห์ ซึ่งการตรวจวินิจฉัยทารกก่อนคลอดนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการในการควบคุมป้องกันโรคธาลัสมียและได้ขยายผลการศึกษาออกไปสู่การบริการประชาชนทุกภูมิภาคของประเทศ ๒. ศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างความผิดปกติของยีน และการเป็นโรคธาลัสเมียที่มีความรุนแรงของโรคแตกต่างกัน (Geonotype – phenotype interaction) โดยศึกษาหาตัวแปรทางพันธุกรรม (Genetic modifier genes) ด้วยเทคนิคที่ทันสมัย อาทิ Genomewide Scan for SNPs Microarray Analysis of Gens Expression Profiles during Erythropoiesis นำไปสู่การค้นพบวิธีการรักษาผู้ป่วยแบบใหม่ และสามารถใช้ในการพยากรณ์ความรุนแรงของโรคได้ ๓. ผลงานวิจัยทางคลินิก ทำให้ทราบว่าผู้ป่วยธาลัสเมียมีโอกาสเป็นโรคติดเชื้อ ทั้งไวรัส แบคทีเรีย (ทั้งกรัมบวกและกรัมลบ) ตลอดจนเชื้อต่างๆ มากกว่าคนปกติและยังพบปัญหาออกซิเจนในเลือดต่ำ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการอุดตันของหลอดเลือดแดงที่ปอด โดยเฉพาะในผู้ป่วยธาลัสเมียที่ตัดม้ามแล้ว ซึ่งมีนักวิจัยของประเทศอิตาลีและประเทศอิสราเอลค้นพบปัญหานี้ในผู้ป่วยเช่นกัน งานวิจัยนี้ได้ศึกษาอย่างต่อเนื่องจนพบความผิดปกติในระบบการแข็งตัวของเลือด โดยเฉพาะเกร็ดเลือดของผู้ป่วยที่จับตัวกันง่าย (Hyperaggregation) ทำให้ทราบว่าผู้ป่วยธาลัสเมียจะมีปัญหาเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือดเร็วกว่าของคนปกติ (Hypercoagulation) ความรู้ดังกล่าวนี้นำไปสู่การให้ยาที่ป้องกันการจับตัวของเกร็ดเลือด อาทิ แอสไพริน ร่วมกับการป้องกันและรักษาภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ ๔. การวิจัยที่เกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การทดสอบยาต่อต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) หลายชนิด เช่น วิตามินอี โคเอ็นซัยม์ คิวเทน (Co Q10) และสารสกัดจากขมิ้นชัน (Curcumin) ในการป้องกันการทำลายของผนังเซลล์และอวัยวะต่างๆ ด้วยอนุมูลอิสระ (Free radicals) ๕. การศึกษาผลการกระตุ้นการสร้างฮีโมโกลบินเอฟ ด้วยยาไฮดรอกซียูเรีย (Hydroxyurea) สารสังเคราะห์ และสารสกัดจากธรรมชาติ เพื่อใช้เป็นวิธีการรักษาคนไข้อีกแนวทางหนึ่ง ๖. การศึกษาปัญหาภาวะธาตุเหล็กเกินและประโยชน์ของการใช้ยาขับธาตุเหล็ก และได้ขยายผลไปสู่การวิจัยที่นำผลไปใช้รักษาผู้ป่วยธาลัสเมีย การทำงานวิจัยร่วมกับองค์การเภสัชกรรมเพื่อที่จะผลิตยาชนิด L1 ขึ้นมาใช้ภายในประเทศ ช่วยลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ทำให้ผู้ป่วยธาลัสเมียส่วนใหญ่ได้ใช้ยาในราคาถูกลงด้วย ปัจจุบันองค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตยาขับเหล็ก ชนิดกินขึ้นมาได้แล้ว โดยใช้ชื่อ GPO-L1 ๗. การตรวจวินิจฉัยโรคธาลัสเมียและฮีโมโกลบินผิดปกติในทารกก่อนคลอดและการควบคุมป้องกันโรคธาลัสเมีย ประเทศไทยมีอุบัติการณ์ของผู้ที่เป็นพาหะของธาลัสเมียสูงมากและมีผู้ป่วยใหม่ปีละมากกว่า ๑๐,๐๐๐ คน ดังนั้นการให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องโรคธาลัสเมีย การตรวจวินิจฉัย การให้คำปรึกษา และการให้การรักษาที่ดีจึงมีความจำเป็น เพื่อลดความทุกข์ทรมานและลดจำนวนของผู้ป่วยที่เป็นโรคธาลัสเมีย นอกจากนี้ ได้นำเทคนิคต่างๆ ในการตรวจดังกล่าวไปถ่ายทอดเผยแพร่ให้แก่ศูนย์การเรียนอื่นๆ ปัจจุบันมีการให้บริการเพิ่มมากขึ้นในหลายโรงพยาบาลและได้พัฒนาปรังปรุงเทคนิคต่างๆ ให้ดีขึ้น จนออกมาในรูปแบบของ Diagnostic kit สามารถนำไปใช้ได้ง่ายในห้องปฏิบัติการที่มีความจำกัดทั้งด้านบุคลากรและเครื่องมือ และที่สำคัญคือ ได้ถ่ายทอดความรู้ไปยังหน่วยงานต่างๆ ทั้งในมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนกรมอนามัย ทำให้กระบวนการในการควบคุมป้องกันโรคธาลัสเมียได้พัฒนามากยิ่งขึ้น ปัจจุบันสามารถลดจำนวนเด็กเกิดใหม่ที่เป็นโรคนี้ได้มากกว่าร้อยละ ๕๐ และคาดว่าในอนาคตจะควบคุมป้องกันการเกิดใหม่ของผู้เป็นโรคธาลัสเมียทั้งประเทศได้มากกว่าร้อยละ ๘๐ ๘. มีส่วนในการจัดตั้ง Asian Network for Thalassemia Control ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและมูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสเมียแห่งประเทศไทย โดยได้เชิญตัวแทนจากประเทศเพื่อนบ้านอาทิ ลาว กัมพูชา เวียดนาม พม่า อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง ไต้หวัน และสาธารณรัฐประชาชนจีน มาปรึกษาเกี่ยวกับวิธีการควบคุมและป้องกันโรคธาลัสเมียในภูมิภาคนี้ นับเป็นคูณปการแก่ประชากรในภูมิภาคที่มีอุบัติการณ์ของโรคโลหิตจางธาลัสเมียเป็นอย่างยิ่ง ๙. ได้ร่วมกับ Dr. Panayiotis loawnon และ Dr. Jim Vadolas ในการสร้างหนูที่มีการสอดใส่ยีนธาลัสเมียที่พบบ่อยในคนไทย คือ b4bpdelection (codon 41-42) และ bE เข้าไปเป็น bcodon41-42thal และ bE transgenic mice ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการศึกษาพยาธิสภาพต่างๆ รวมถึงใช้เป็นโมเดลในการศึกษาเกี่ยวกับการรักษาธาลัสเมียอีกด้วย รางวัลผลงานอันดีเด่น ได้แก่ • Golden Silk Award จาก Guangxi Medical University ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน • ศิษย์เก่าดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ เนื่องใน “วันมหิดล” มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ • นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ • เมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย • นักวิจัยอาวุโส สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ • ผลงานวิจัยดีเยี่ยม เรื่อง ธาลัสเมียและฮีโมโกลบินในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ • นักศึกษาเก่าดีเด่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทัศน์ ฟู่เจริญ เป็นนักศึกษาเก่าของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รหัส ๑๐๗๐๐๔๕ ได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพเนื่องใน “วันมหิดล” มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๕ และรางวัลนักศึกษาเก่าดีเด่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๐ แม้ปัจจุบันจะทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล แต่ได้อุทิศตน สละเวลามาเป็นอาจารย์พิเศษและควบคุมวิทยานิพนธ์ให้แก่นักศึกษาหลักสูตรปริญญาโท ภาควิชาเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การทำงานวิจัยร่วมกับอาจารย์และนักวิจัยของคณะเทคนิคการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในโครงการต่างๆ เช่น โครงการวิจัยการพัฒนาชุดตรวจพาหะธาลัสเมียแบบแถบ ปัจจุบันชุดตรวจพาหะดังกล่าวได้ถ่ายทอดไปยังบริษัทเอกชนและสามารถผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ และจดสิทธิบัตรไว้เรียบร้อยแล้ว นอกจากความร่วมมือทางวิชาการ และงานวิจัยที่มีให้แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทัศน์ ฟู่เจริญ ยังเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการอำนวยการคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมีบทบาทอย่างมากในการให้ข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการของคณะ ก่อให้เกิดการพัฒนาและประโยชน์อย่างยิ่ง โดยเหตุที่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทัศน์ ฟู่เจริญ เป็นผู้สร้างคุณประโยชน์อันก่อให้เกิดความก้าวหน้าในด้านการแพทย์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ความสามารถด้านวิชาการที่เกี่ยวกับโรคเลือด โรคธาลัสเมีย ความเชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ในห้องปฏิบัติการชันสูตรต่อกระบวนการทางการแพทย์ในการดูแล รักษา การติดตามโรคของผู้ป่วยเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ กอปรกับเป็นแพทย์และอาจารย์แพทย์ที่มีความวิริยะ อุตสาหะ มีจริยธรรมและคุณธรรมเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ศิษย์และแพทย์ทั่วไปมาโดยตลอด ด้วยเกียรติคุณและผลงานอันดีเด่นดังกล่าว สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงมีมติให้ได้รับพระราชทานปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป