Untitled Document
 
 
 ปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ปีการศึกษา 2552-2553
 
นายวิถี พานิชพันธ์
 
สาขาวิชา
          ปริญญาศิลปะดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศิลปะไทย
คำประกาศเกียรติคุณ
           นายวิถี พานิชพันธ์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก University of California, Los Angeles (UCLA) และระดับปริญญาโท สาขา Environmental of Design University of California, Los Angeles (UCLA) ประเทศสหรัฐอเมริกา เคยปฏิบัติหน้าที่ในงานต่างๆ ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เช่น หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะมนุษยศาสตร์ หัวหน้าภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ และรองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ คณะวิจิตรศิลป์ อาจารย์พิเศษสถาบันราชภัฏเชียงราย สถาบันราชภัฏลำปาง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสถาบันศึกษาและสืบสานศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรมล้านนา (ไต) มหาวิทยาลัยพะเยา นายวิถี พานิชพันธ์ เป็นผู้ที่อุทิศตนในการถ่ายทอดศิลปะไทยและศิลปะพื้นบ้านล้านนาให้แก่เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจทั่วไป มานานกว่า ๓๐ ปี ได้รับเชิญเป็นวิทยากรและอาจารย์พิเศษในสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่ กรุงเทพมหานครและต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น และประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังได้อุทิศตนเพื่องานศิลปวัฒนธรรมด้วยการนำลูกศิษย์เข้าร่วมแสดงศิลปวัฒนธรรมในงานทำบุญประเพณีของหน่วยงานเอกชน และหน่วยงานของราชการต่างๆ ในเขตจังหวัดภาคเหนือ เช่น งานประเพณีสงกรานต์ งานประเพณีใส่ขันดอกบูชาเสาอินทขิล งานประเพณีสรงน้ำพระธาตุ และงานพิธีกรรมต่างๆ รวมถึงการอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมล้านนาให้เป็นที่รู้จักในระดับชาติและระดับนานาชาติ เช่น งานสลุงหลวง จังหวัดลำปาง งานไหว้สาแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย งานร่มบ่อสร้าง จังหวัดเชียงใหม่ การแสดงฟ้อนพื้นเมือง และประเพณีการส่งสการล้านนา หรือพิธีศพแบบล้านนา ตลอดจนเป็นผู้ริเริ่มฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมล้านนาให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง นอกจากนี้ นายวิถี พานิชพันธ์ ยังเป็นผู้อุทิศแรงกาย แรงใจ เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูงานศิลปวัฒนธรรมของล้านนาอย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย จนได้รับสมญานามว่าเป็นผู้รังสรรค์ศิลปวัฒนธรรมแบบ “นีโอล้านนา” (Neo Lanna) เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวไทยและชาวต่างประเทศ ผลงานที่แสดงถึงความสำเร็จอันยอดเยี่ยมในวิชาชีพปรากฏเป็นที่ยอมรับด้านต่างๆ ดังนี้ การออกแบบสถาปัตยกรรม/จิตรกรรม • ออกแบบเรือนพักอาศัยแนวล้านนาประยุกต์ที่หมู่บ้านสันติธรรมและหมู่บ้านสันผีเสื้อ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และที่ตลาดเก่า อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง • ออกแบบอุโบสถกลางน้ำวัดป่าแดด อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ • ออกแบบและเขียนภาพลายดำในพระวิหารหลวงวัดเชียงมั่น จังหวัดเชียงใหม่ • ออกแบบภาพลายดำในพระวิหารวัดพระธาตุเปียงใจ จังหวัดเชียงตุง ประเทศพม่า การออกแบบศิลปะการแสดง • การแสดง แสง สี เสียง ประกอบการฟ้อนรำ หน้าพระที่นั่งในพิธีถวายสลุงหลวงแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ • การแสดงละครฟ้อนเรื่อง เจ้าคัทธนกุมาร หน้าพระที่นั่งถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ณ ร้านอาหารบ้านสวน สันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ • การแสดงละครฟ้อนเจ้าก่ำก๋าดำ หน้าพระที่นั่งถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ณ ร้านอาหารบ้านสวนริมปิง จังหวัดเชียงใหม่ • ออกแบบพระที่นั่งและจัดการแสดงของชนเผ่า หน้าพระที่นั่งถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในงานสายใจไทย ณ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ • การแสดงละครฟ้องเกี๋ยงคำ หน้าพระที่นั่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ วังสวนผักกาด กรุงเทพมหานคร • การแสดงฟ้องรำวิจิตรมาลี หน้าพระที่นั่งถวายแด่สมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ณ ร้านอาหารสวนบ้านสวนริมปิง จังหวัดเชียงใหม่ • การแสดงฟ้อนรำอิงตำนาน “ทิพย์โพยม ล่องฟ้า เวียงท่ากาน” ถวายแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีและพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ณ โบราณสถานท่าเวียงกาน อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ • การออกแบบฟ้อนรำชุดต่างๆ ในสกุลช่างนีโอล้านนา เช่น ฟ้อนเทวดา ฟ้อนขันดอก ฟ้อนผางประทีป ฟ้อนเจิงดาบไฟ และฟ้อนผ้า งานอนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านล้านนา จัดทำเทปเสียงดนตรีพื้นบ้านเพื่อเผยแพร่ ดังนี้ • เพลงฟ้อนผี ลำปาง • เพลงฟ้อนต๊กเซ่ง ลำปาง • เพลงแห่ศพ ลำปาง • เพลงกลองอืด แบบเมืองน่าน การสร้างสรรค์งานประเพณีล้านนาใหม่ • การไหว้ครูแบบล้านนา คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๗ ถึงปัจจุบัน • ช่วยวางแผนและดำเนินงาน งานไหว้สาแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย พ.ศ. ๒๕๒๖, ๒๕๒๘, ๒๕๒๙ และ ๒๕๓๐ • งานสลุงหลวงจังหวัดลำปาง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๐ ถึงปัจจุบัน • ช่วยวางแผนและดำเนินงานมหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๓๐ • ช่วยวางแผนและดำเนินงาน งานแห่พระแก้วเข้าเมือง จังหวัดเชียงราย พ.ศ. ๒๕๓๒ • ช่วยวางแผนและดำเนินงานหลวงเวียงละกอน จังหวัดลำปาง พ.ศ. ๒๕๓๒ • ช่วยวางแผนและดำเนินงานประเพณีร่มบ่อสร้าง จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๕๓๒ • ช่วยวางแผนและดำเนินงานประเพณีสักการะพระบรมธาตุดอยสุเทพ ของสโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ • จัดสร้างงานประเพณีตานข้าวใหม่ใส่บาตรหลวง ของโครงการจัดตั้งศิลปวัฒนธรรมล้านนา (ไต) และสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยนเรศวร พะเยา พ.ศ. ๒๕๔๙ – ๒๕๕๓ การบรรยายทางวิชาการ • ถวายการบรรยายแด่สมเด็จพระเจ้านางเธอ เจ้าฟ้ากัลป์ยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เรื่อง ศิลปกรรมวัดป่าแดดและวัดกองแขก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ • ถวายการบรรยายแด่สมเด็จพระเจ้านางเธอ เจ้าฟ้ากัลป์ยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เรื่อง ศิลปกรรมวัดไหล่หิน และวัดปงยางคก อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง • ถวายการบรรยายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และนักศึกษาโรงเรียนนายร้อย จปร. เรื่อง ศิลปะล้านนา ณ พิพิธภัณฑ์ไร่แม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดเชียงใหม่ • ถวายการบรรยายแด่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ เรื่อง ประเพณีฟ้อนผี จังหวัดลำปาง • บรรยายพิเศษพุทธศิลป์ล้านนาแก่พระนิสิตชาวต่างประเทศของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตวัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ • บรรยายเรื่องผ้าในการสัมมนาวิชาการและนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ หัวข้อ ผ้าราชสำนัก ผ้าเขมร ผ้าภูฏาน ผ้าไทลื้อ และผ้าล้านนา • บรรยายเรื่องศิลปวัฒนธรรมล้านนาให้แก่เจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการของโครงการ Lanna Trend ของหน่วยงาน สวทช. ภาคเหนือ • บรรยายเรื่องศิลปวัฒนธรรมล้านนาให้แก่กลุ่มศิลปินแห่งชาติ ในโครงการศิลปินแห่งชาติสัญจร ภาคเหนือของหน่วยงาน สวช. กระทรวงวัฒนธรรม • บรรยายเรื่องผ้าและการแต่งกายล้านนา ณ พิพิธภัณฑ์ลำพูน • บรรยายและจัดนิทรรศการศิลปะพื้นบ้านล้านนา ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย • บรรยายเรื่องสถาปัตยกรรมบ้านดินในเอเชียให้แก่นักศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลเชียงใหม่ • บรรยายเรื่องการเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมแก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ • บรรยายเรื่องเรือนพม่า เรือนไตแก่ศูนย์โบราณคดีภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ • บรรยายเรื่องการใช้ผ้าไทย ณ พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก • บรรยายเรื่องสังคมเอเชียอาคเนย์ แก่นักศึกษาภาคพิเศษ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต รางวัลเชิดชูเกียรติที่ได้รับ • รางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น วิหารบ้านก่อ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง (ประเภทปูชนียสถานและวัดวาอาราม) จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระราชูปถัมภ์ • รางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น บ้านย่าแดง (ประเภทบุคคล) จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ • รางวัล Robinson Bright and Charm Award ๒๐๑๐ จากบริษัทห้างสรรพสินค้า โรบินสัน จำกัด (มหาชน) โดยเหตุที่ นายวิถี พานิชพันธ์ ได้อุทิศตนเพื่อฟื้นฟู รักษาและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมล้านนา ด้วยแรงกาย แรงใจ และจิตวิญญาณของความเป็นครูและการเป็นผู้ให้ เปิดโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษา พระสงฆ์ กลุ่มช่าง ชาวบ้านและผู้สนใจมาโดยตลอด โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ทำให้เกิดการตื่นตัวในการรักษามรดกทางศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรม เครื่องแต่งกาย รวมไปถึงสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมของท้องถิ่นและระดับชาติ ด้วยเกียรติคุณและผลงานอันดีเด่นดังกล่าว สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงมีมติให้ได้รับพระราชทานปริญญาศิลปดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศิลปะไทย เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป