Untitled Document
 
 
 ปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ปีการศึกษา 2557-2558
 
รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร. เทอด เทศประทีป
 
สาขาวิชา
          ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสัตวแพทยศาสตร์
คำประกาศเกียรติคุณ
          รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร. เทอด เทศประทีป สำเร็จการศึกษาสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๑๐ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง จาก The Royal Veterinary College, Stockholm, Sweden (P.G. Diploma in Veterinary Pathology) พ.ศ. ๒๕๑๓ และดุษฎีบัณฑิตทางด้านพยาธิวิทยาการสัตวแพทย์ (Veterinary Pathology) College of Veterinary Medicine, Hannover, Germany พ.ศ. ๒๕๑๖ เคยดำรงตำแหน่งบริหารที่สำคัญ ได้แก่ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณบดีผู้ก่อตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง สาขากรุงเทพมหานคร รักษาการคณบดีสำนักวิชาเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ กรรมการพิจารณาทุนการศึกษาปริญญาเอก แผนกสัตวแพทยศาสตร์ มูลนิธิอานันทมหิดล และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคีช้างไทย รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร. เทอด เทศประทีป ได้อุทิศตนให้กับวิชาชีพ มุ่งมั่นและผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการทางด้านสัตวแพทย์ เพื่อ รับใช้เพื่อนมนุษย์และสังคมในทุกโอกาส ทั้งยังมีความเป็นครูผู้ให้ความรู้ทั้งด้านวิชาการและการดำเนินชีวิต เป็นผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกล รักความยุติธรรม ให้ความ เท่าเทียมแก่บุคคลผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา มีความรอบรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านพยาธิวิทยาทางสัตวแพทย์อย่างดีเลิศ และมีผลงานทางวิชาการอันเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ เคยได้ร่วมถวายงานแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในการดูแลรักษาโรคตาอักเสบของช้างเผือกคู่พระบารมี คือ พระเศวตสุรคชาธาร ณ พระราชวังไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ขณะดำรงตำแหน่งคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะทำงานฝ่ายสัตวแพทย์ ดำเนินการผ่าตัดรักษาเท้าของช้างพังโม่ตาลา ซึ่งได้รับอุบัติเหตุจากการเหยียบกับระเบิดในเขตชายแดนประเทศพม่า และได้รับการรักษาที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นกรณีตัวอย่างด้านสวัสดิภาพสัตว์ที่ทั่วโลกให้ความสนใจและเป็นรายแรกของโลกที่ได้รับการผ่าตัดเป็นผลสำเร็จ จากงานที่ได้ทำเพื่อการชันสูตร การช่วยเหลือและรักษาชีวิตสัตว์ ทำให้ท่านได้รับรางวัล “สัตวแพทย์ตัวอย่าง ประจำปี ๒๕๔๔ สายงานเผยแพร่วิชาชีพและบริการสังคม” จากสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ นอกจากนี้ ยังเป็นประธานคนแรกของภาคีสัตวแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางการศึกษาสัตวแพทย์เพื่อวางแผนการทำงาน และทิศทางของวิชาชีพสัตวแพทย์ อีกด้วย ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร. เทอด เทศประทีป เป็นอดีตคณบดี ผู้ก่อตั้งคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๓๗-๒๕๔๔ โดยเป็นผู้วางรากฐานการทำงานของบุคลากร งานการเรียนการสอน งานวิจัย และงานบริการวิชาการของคณะสัตวแพทยศาสตร์ ได้ร่วมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยวางแผน การพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำมาซึ่งชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในนานาประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผู้ริเริ่มในการจัดระบบในรูปแบบใหม่ๆ ของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มีความแตกต่างไปจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ มีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ มีวิสัยทัศน์ที่จะนำคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไปสู่ความเป็นสากล โดยเน้นการทำงาน การเรียนการสอน งานวิจัย ที่จะพัฒนาท้องถิ่นและความเป็นวัฒนธรรมล้านนา นำจุดเด่นเฉพาะถิ่นไปสู่สากล ตามแนวคิดที่ว่า “Think Globally Act Locally” อีกทั้งมีความคิดริเริ่มที่ให้นักศึกษานำเสนองานเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็น สิ่งใหม่และถูกต่อต้านในช่วงแรก แต่ยังคงได้รับการยอมรับและปฏิบัติในคณะมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นจุดเด่นทำให้นักศึกษาสัตวแพทย์ มีอัตลักษณ์ด้านภาษา มีการติดต่อประสานงานและทำงานกับชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระหว่างคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับ คณะสัตวแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลก ทำให้เกิดสัญญาความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบัน มีการให้ทุนแก่อาจารย์เพื่อศึกษาต่อต่างประเทศ รวมทั้งทุนแลกเปลี่ยนแก่นักศึกษาสัตวแพทย์ในการเพิ่มพูนประสบการณ์การทำงานระหว่างประเทศอีกด้วย โดยเหตุที่ รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร. เทอด เทศประทีป เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ รักในวิชาชีพในสาขาสัตวแพทย์ และได้นำความรู้ มาใช้ช่วยเหลือสัตว์ ทั้งยังเป็นผู้วางรากฐานการทำงาน การเรียนการสอน งานวิจัยพัฒนาวิชาการ สร้างเครือข่ายความร่วมมือนำมาซึ่งความโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ เป็นแบบอย่างนักวิชาการสัตวแพทย์ที่ดีงาม มีคุณูปการต่อคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สมควรยกย่องต่อสาธารณชน ด้วยเกียรติคุณและผลงานอันดีเด่นดังกล่าว สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงมีมติให้ได้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสัตวแพทยศาสตร์ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป