Untitled Document
 
 
 ปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ปีการศึกษา 2549-2550
 
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ
 
สาขาวิชา
          ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาภาษาและวรรณกรรม
คำประกาศเกียรติคุณ
          ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ สำเร็จการศึกษา B.A. Honours สาขา Comparative Literature จากมหาวิทยาลัย Cambridge ประเทศสหราชอาณาจักร และ Dr. Phil. (magna cum laude) สาขา Comparative Literature จากมหาวิทยาลัย Tubingen ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยศิลปากร เคยดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาเยอรมัน คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร Deputy Director, SEAMEO Secretariat คณบดีคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวางแผนพัฒนามหาวิทยาลัยศิลปากร นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิในหน่วยงานและองค์กรต่างๆ เช่น Vice President, Federation Internationale des Langues et Litteratures Modernes (FILLM) เมธีวิจัยอาวุโส สกว. กวีนิพนธ์ในฐานะพลังงานทางปัญญาของสังคมร่วมสมัย: ประสบการณ์จากวรรณคดีไทย อังกฤษ อเมริกัน ฝรั่งเศส และเยอรมัน หัวหน้าโครงการวิจัย สกว. “การวิจารณ์ในฐานะพลังทางปัญญาของสังคมร่วมสมัย” และ “การวิจารณ์ในฐานะพลังงานปัญญาของสังคมร่วมสมัยภาค ๒” ผู้ทรงคุณวุฒิในโครงการวิจัย สกว. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย กรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการทบวงมหาวิทยาลัย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสภามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ เป็นนักวิชาการที่มีผลงานวิชาการเป็นที่ประจักษ์ และยอมรับทั้งในประเทศและระดับนานาชาติในวงการศึกษาด้านวรรณคดีศึกษา วรรณคดีเปรียบเทียบ วัฒนธรรมศึกษา และวัฒนธรรมเปรียบเทียบ ทฤษฎีการวิจารณ์ การวิจารณ์วรรณกรรมและศิลปะแขนงอื่นๆ โดนเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดด้านการศึกษาและมนุษยศาสตร์ ผลงานโดดเด่น เช่น เป็น Visiting Professor ให้มหาวิทยาลัยในต่างประเทศทั้งในยุโรปและอเมริกา เป็นวิทยากรพิเศษให้แก่มหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ผลงานวิชาการดีเด่นและเป็นที่ยอมรับในวงวิชาชีพ เช่น ทฤษฎีเบื้องต้นแห่งวรรณคดี ทางไปสู่วัฒนธรรมการวิจารณ์ วิกฤตการณ์ของมนุษยศาสตร์ บ้านเมืองจะอับจนถ้าผู้คนร้างศิลปะ เก่ากับใหม่อะไรไหนดี: มนุษยศาสตร์ไทยในกระแสของความเปลี่ยนแปลง วิถีแห่งการวิจารณ์: ประสบการณ์จากสามทศวรรษ แนวทางการประเมินค่าวรรณคดีวิจารณ์เยอรมัน ฝรั่งเศสและอังกฤษ – อเมริกัน ในศตวรรษที่ ๒๐ Comparative Literature from a Thai Perspective, Fervently Mediating: Criticism from a Thai Perspective, Criticism as Cultural Encounter และ Papers on Education เป็นต้น ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ เป็นนักวิจัยที่มีผลงานวิจัยอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ผลักดันให้เกิดบรรยากาศในการวิจัยสายมนุษยศาสตร์มากขึ้น จนได้รับการคัดเลือกจากสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้เป็นเมธีวิจัยอาวุโส ทั้งยังส่งเสริมให้นักวิจัยรุ่นใหม่ได้เข้าร่วมในโครงการวิจัย นอกจากนี้ยังมีบทบาทสำคัญยิ่งในสายมนุษยศาสตร์ในประเทศไทย โดยได้ให้ข้อคิดไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งในรูปแบบของปาฐกถา การบรรยายพิเศษและบทความ เป็นผู้ที่เข้าใจปัญหาการศึกษาในสายมนุษยศาสตร์ และได้ให้แนวคิดในการพัฒนาการศึกษาและการวิจัยในสายวิชานี้อย่างชัดเจน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ ได้เสียสละและอุทิศตนเป็นวิทยากรพิเศษให้แก่คณะมนุษยศาสตร์ และคณะวิจิตรศิลป์ ติดต่อกันนานกว่า ๒๐ ปี การเป็นวิทยากรพิเศษบรรยายในแต่ละหัวข้อก่อให้เกิดประโยชน์แก่นักศึกษาในลักษณะต่างๆ กัน เช่น การบรรยายเกี่ยวกับวรรณคดีศึกษาและวรรณคดีเปรียบเทียบ การบรรยายเกี่ยวกับภาษา วรรณคดีและวัฒนธรรมไทย นอกจากนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ ยังเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการปรับปรุงและจัดทำหลักสูตรของภาควิชาต่างๆ ในคณะมนุษยศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาเยอรมัน หลักสูตรวิชาศึกษาทั่วไปของคณะมนุษยศาสตร์ และหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาวรรณกรรมและวัฒนธรรมศึกษา โดยเหตุที่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านวิชาการที่มีผลงานดีเด่นจนเป็นที่ยอมรับ ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเพียรพยายาม ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ และกำลังสติปัญญา เสียสละและอุทิศตนจนก่อให้เกิดประโยชน์แก่วงวิชาการและวิชาชีพในสาขามนุษยศาสตร์เป็นอย่างมาก ด้วยเกียรติคุณและผลงานดีเด่นดังกล่าว สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงมีมติให้ได้รับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ภาษาและวรรณกรรม) เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป