ความเป็นมา ห้องศาสตราจารย์สุกิจ นิมมานเหมินท์

ห้องศาสตราจารย์สุกิจ นิมมานเหมินท์

         สำนักหอสมุดได้รับมอบหนังสือส่วนบุคคลของศาสตราจารย์สุกิจ นิมมานเหมินท์ อดีตนายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จากทายาทของศาสตราจารย์สุกิจ นิมมานเหมินท์ ซึ่งได้รับมอบจำนวนรวมทั้งสิ้น ๗,๔๗๙ เล่ม นับเป็นหนังสือหายากทั้งหมดจากหลักฐานของกรมวิชาการ เนื่องจากเป็นหนังสือเก่า มีแมลงกัดกร่อน ดังนั้น ก่อนสร้างฐานข้อมูลรายชื่อหนังสือทั้งหมดเพื่อออกบริการแก่ผู้ใช้ สำนักหอสมุด จึงได้ดำเนินการอนุรักษ์ด้วยวิธีการฆ่าแมลงโดยลดอุณหภูมิแบบเฉียบพลันด้วยการนำเข้าห้องเย็นยิ่งยวดของสำนักหอสมุด เป็นเวลา ๗๒  ชั่วโมง ซึ่งเป็นวิธีการสากลที่ทันสมัยแทนการใช้สารเคมีแบบเดิม ทำให้เป็นผลดี ไม่มีผลข้างเคียงในด้านกลิ่นของสารเคมีต่อผู้ปฏิบัติงานและผู้ใช้ อีกทั้ง ยังเป็นการยืดอายุการใช้งานได้นานขึ้น และทำให้คงสภาพดีกว่าเดิม หลังจากนั้นจึงนำข้อมูลเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลบรรณานุกรมรายชื่อหนังสือของสำนักหอสมุด (CMUL OPAC) เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ จำนวน ๖,๒๗๙ เล่ม แยกเป็นหนังสือภาษาไทย จำนวน ๑,๘๑๗ เล่ม หนังสือภาษาต่างประเทศ จำนวน ๓,๑๕๙ เล่ม หนังสือหายากภาษาไทยที่มีการจัดพิมพ์เกิน ๕๐ ปี และเป็นหนังสืออนุสรณ์งานศพ จำนวน ๑,๑๒๙ เล่ม หนังสือหายากภาษาต่างประเทศที่มีการจัดพิมพ์เกิน ๕๐ ปี จำนวน ๑๗๔ เล่ม ในจำนวนหนังสือทั้งหมด มีหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนก จำนวน ๑๔๒ เล่ม นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการอนุรักษ์และดิจิไทซ์เอกสารโบราณ ประเภทสมุดข่อย โดยนำเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลเอกสารโบราณ (CMUL Digital Heritage Collection) จำนวน ๒๐ เล่ม สำหรับหนังสือบางส่วนรวมทั้งเอกสารโบราณ ประเภทพับสา ที่ชำรุดมากจะต้องผ่านการอนุรักษ์ทรัพยากรสารนิเทศตามหลักวิชาการก่อน จึงยังไม่สามารถนำเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลของสำนักหอสมุดได้ทั้งหมด

         สำนักหอสมุด ร่วมกับทายาทได้กำหนดสถานที่ห้องศาสตราจารย์สุกิจ นิมมานเหมินท์ ให้อยู่บริเวณชั้น ๓ อาคารใหม่แห่งนี้ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้อนุมัติงบประมาณในการจัดทำห้องศาสตราจารย์สุกิจ นิมมานเหมินท์ เป็นเงินรวมทั้งสิ้น ๗๕๔,๐๒๓ บาท และจัดซื้อชั้นหนังสือเป็นเงิน ๑๖๒,๗๔๗ บาท ซึ่งสำนักหอสมุดได้รับความอนุเคราะห์ในการออกแบบห้องโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศิริชัย ธนะทิตย์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

         ห้องศาสตราจารย์สุกิจ นิมมานเหมินท์ ได้ติดตั้งระบบกล้องวงจรปิดและติดตั้งระบบ Access Control ที่ประตูหน้าห้อง ภายในห้องประดับรูปภาพของศาสตราจารย์สุกิจ นิมมานเหมินท์ พร้อมทั้งมีบริการเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับสืบค้นข้อมูลหนังสือที่นำเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลบรรณานุกรมรายชื่อหนังสือของสำนักหอสมุด (CMUL OPAC) และเอกสารโบราณที่นำเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลเอกสารโบราณ (CMUL Digital Heritage Collection) แล้ว ผู้ใช้บริการสามารถสืบค้นข้อมูลบรรณานุกรมหนังสือ และเอกสารโบราณฉบับเต็มประเภทสมุดข่อยผ่านเว็บไซต์ของสำนักหอสมุดที่ http://library.cmu.ac.th และเว็บไซต์ห้องศาสตราจารย์สุกิจ นิมมานเหมินท์ ที่ http://library.cmu.ac.th/sukich มีข้อมูลเกี่ยวกับ

 

  • อัตชีวประวัติของศาสตราจารย์สุกิจ นิมมานเหมินท์
  • รูปภาพของศาสตราจารย์สุกิจ นิมมานเหมินท์
  • หนังสือที่ระลึกพิธีพระราชทานเพลิงศพของศาสตราจารย์สุกิจ นิมมานเหมินท์ ที่อยู่ในรูปอิเล็กทรอนิกส์ฉบับเต็ม
  • รายชื่อหนังสือที่ให้บริการในห้องศาสตราจารย์สุกิจ นิมมานเหมินท์
  • รายชื่อเอกสารโบราณประเภท สมุดข่อย ที่อยู่ในรูปเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ฉบับเต็ม

             

สำนักหอสมุดได้จัดให้บริการหนังสือทั้งหมดโดยติดสติ๊กเกอร์ลายเซ็นต์ของศาสตราจารย์สุกิจ นิมมานเหมินท์ ไว้ที่ตัวเล่ม และจัดเก็บไว้ภายในห้องศาสตราจารย์สุกิจ นิมมานเหมินห์ (Professor Sukich Nimmanheminda Collection) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชั้น ๓ อาคารใหม่ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนังสือเหล่านี้ไม่อนุญาตให้ยืมออกนอกห้องสมุด ผู้ใช้ที่เป็นสมาชิกของสำนักหอสมุด รวมทั้งบุคคลภายนอก สามารถเข้าใช้หนังสือโดยแจ้งลงทะเบียนได้ที่เคาน์เตอร์บริการยืม-คืน มีกำหนดระยะเวลาในการใช้ห้องเป็นเวลา ๑ วัน