Untitled Document
 
 
 ปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ปีการศึกษา 2549-2550
 
นายวัชระ ตันตรานนท์
 
สาขาวิชา
          ปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
คำประกาศเกียรติคุณ
          นายวัชระ ตันตรานนท์ สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี สาขาวิชาบัญชี คณะสังคมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปริญญาบัตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปรอ. รุ่นที่ ๓๖) ปริญญาบริหารธุรกิจบัณฑิตดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัทสุเทพพรอพเพอร์ตี้ จำกัด บริษัทบ้านสวนงามจำกัด บริษัทมิสตี้ฮิลล์ จำกัด บริษัทเชียงใหม่บิสสิเนส พาร์ค จำกัด บริษัทไทยลานนาฟู้ด แอนด์ คัลเชอรัล เซ็นเตอร์ จำกัด บริษัทแอมพลัสอินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทคุ้มพญารีสอร์ท แอนด์ สปา ผู้จัดการโรงเรียนพณิชยการลานนาเชียงใหม่ โรงเรียนเทคโนโลยีเอเชีย และโรงเรียนวชิรวิทย์ จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังเป็นที่ปรึกษา ประธานกรรมการ ในองค์กร สมาคมและหน่วยงานอีกมากแห่งด้วยกัน เช่น ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ที่ปรึกษาสมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ปรึกษาสมาคมสะมาริตันส์ สาขาเชียงใหม่ กงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐเกาหลี ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ประธานคณะกรรมการทุนการศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประธานมูลนิธิศูนย์ส่งเสริมพัฒนาการเด็กภาคเหนือ รองประธานหอการค้าฝ่ายกิจกรรมพิเศษ จังหวัดเชียงใหม่ นายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์จังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน กรรมการมูลนิธิพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กรรมการบริหารมูลนิธิกล้วยไม้ไทย กรรมการ กต.ตร. จังหวัดเชียงใหม่ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ นายวัชระ ตันตรานนท์ เป็นผู้บริหารระดับสูงในวงธุรกิจเป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีความรู้ความสามารถในด้านการบริหารธุรกิจอย่างยอดเยี่ยม ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดและเป็นรูปธรรม คือ การพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลามากกว่า ๓๐ ปี เช่น พัฒนาโครงการที่พักอาศัยในรูปแบบของอาคารชุดและบ้านจัดสรร ทั้งในจังหวัดเชียงใหม่และกรุงเทพมหานคร การพัฒนาที่ดินในจังหวัดเชียงใหม่ มีมูลค่ากว่าหนึ่งหมื่นสองพันล้านบาท และการพัฒนาที่ดินในกรุงเทพมหานคร มีมูลค่ามากกว่าหนึ่งหมื่นสามพันล้านบาท การพัฒนาที่ดินในจังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลให้เกิดความเจริญและก่อให้เกิดมูลค่ามหาศาลทางเศรษฐกิจ ดังนี้ • การพัฒนาที่ดินซึ่งนำความเจริญมาสู่ท้องถิ่น คือ ย้ายสถานที่ตั้งโรงเรียนมงฟอร์ต แผนกมัธยมออกไปที่ถนนมหิดล และพัฒนาที่ดินเดิมที่ถนนช้างคลานให้เป็นย่านธุรกิจ • การพัฒนาที่ดินที่ถนนห้วยแก้วให้เป็นโครงการศูนย์ธุรกิจ และที่อยู่อาศัยที่ใหญ่ที่สุดโครงการหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ • การพัฒนาที่ดินที่ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่-ลำปาง (ด้านหน้ามหาวิทยาลัยพายัพ) ให้เป็นศูนย์ธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ (โครงการบิสสิเนสพาร์ค) เพื่อรับรองการเจริญเติบโตของหกเหลี่ยมเศรษฐกิจ นายวัชระ ตันตรานนท์ ยังได้ประกอบธุรกิจในด้านการพัฒนาศึกษาไปพร้อมๆ กับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก เพราะตระหนักว่าการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการพัฒนาประเทศ เป็นพื้นฐานของกระบวนการทางสังคม ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใหม่ของสังคม ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม ตลอดจนตอบสนองต่อความต้องการของตลอดแรงงาน จึงได้ก่อตั้งโรงเรียนพาณิชยการลานนาเชียงใหม่ โรงเรียนเทคโนโลยีเอเชีย และโรงเรียนวชิรวิทย์ สถาบันดังกล่าวผลิตนักศึกษาและนักเรียนคุณภาพออกไปสู่สังคมเป็นจำนวนมาก ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายวัชระ ตันตรานนท์ ได้สนับสนุนการพัฒนากิจการของมหาวิทยาลัย ทั้งด้านบริหารการศึกษา การวิจัย และการบริหารจัดการ จึงได้รับความไว้วางใจและได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักศึกษาเก่าของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ๓ สมัย ดำรงตำแหน่งกรรมการส่งเสริมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ได้จัดตั้งโครงการเชียงใหม่ซอฟแวร์ และเทคโนโลยีปาร์ค ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ บริษัทเชียงใหม่ซอฟท์แวร์แอนด์เทคโนโลยีพาร์ค จำกัด และบริษัทในเครือแปซิฟิก นับเป็นซอฟท์แวร์และเทคโนโลยีแห่งแรกในภูมิภาคของประเทศไทย ที่มุ่งพัฒนาบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อรองรับตลอดแรงงานทางด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศต่อไป นอกจากนี้ได้ริเริ่มจัดตั้งกองทุน “วัชระ ตันตรานนท์” เพื่อให้เป็นทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นับได้ว่าเป็นบุคคลที่สนับสนุนและพัฒนาการศึกษาควบคู่กับการทำธุรกิจมาโดยตลอด โดยเหตุที่ นายวัชระ ตันตรานนท์ เป็นผู้ที่มีบทบาทในการนำความรู้ด้านการบริหารธุรกิจมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านธุรกิจ ด้านการให้บริการวิชาการแก่สังคม ด้านการพัฒนาสังคมและด้านการพัฒนาการศึกษา จนปรากฏเป็นที่ยอมรับในวงการวิชาชีพธุรกิจ ด้วยเกียรติคุณและผลงานดีเด่นดังกล่าว สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงมีมติให้ได้รับพระราชทานปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป