Untitled Document
 
 
 ปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ปีการศึกษา 2549-2550
 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิศิษฐ์ วรอุไร
 
สาขาวิชา
          ปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพืชสวน
คำประกาศเกียรติคุณ
          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิศิษฐ์ วรอุไร สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี กสิกรรมและสัตวบาลบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปริญญาเอกสาขาพืชสวน จาก University of Nottingham ประเทศสหราชอาณาจักร เริ่มรับราชการในตำแหน่งครูประจำกรมครูใหญ่โรงเรียนหอพระ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ภาคการศึกษา ๘ โอนมารับราชการที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในตำแหน่งอาจารย์โท คณะวิทยาศาสตร์ ต่อมาย้ายไปดำรงตำแหน่งอาจารย์โท คณะเกษตรศาสตร์ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ได้แก่ หัวหน้าภาควิชาส่งเสริมและเผยแพร่การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด และรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิในสถาบันและองค์กรต่างๆ ของรัฐ เช่น ผู้อำนวยการศูนย์บริการพัฒนาการขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านไร่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ปรึกษาศูนย์การศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมากจากพระราชดำริ ที่ปรึกษาคณะทำงานโครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประธานคณะทำงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปัจจุบัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิศิษฐ์ วรอุไร ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาคณะทำงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นับตั้งแต่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิศิษฐ์ วรอุไร มาดำรงตำแหน่งอาจารย์ในคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้อุทิศตนเพื่อสร้างบุคลากรของชาติ โดยมุ่งมั่นต่อการสอนให้นักศึกษาได้เป็นผู้รู้จริง สำนึกบทบาทของตนเองเมื่อสำเร็จการศึกษา ให้ความรักและเมตตาแก่นักศึกษาประดุจลูกของตนเอง โดยจะสอดแทรกธรรมะเพื่อมุ่งสร้างให้นักศึกษาเป็นผู้ที่มีคุณธรรมและจริยธรรม ผลงานโดดเด่นของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิศิษฐ์ วรอุไร ที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จอันยอดเยี่ยมและเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการและวิชาชีพ ดังนี้ • เป็นผู้ริเริ่มและจัดตั้งห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเป็นแห่งแรกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้สำเร็จ ห้องปฏิบัติการนี้มีส่วนสำคัญในการสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทางด้านเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในวิชาชีพได้เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ห้องปฏิบัติการดังกล่าวยังใช้เป็นสถานที่สอนวิจัยในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ให้แก่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จนถึงปัจจุบัน • เป็นกรรมการก่อตั้งสมาคมกล้วยไม้เชียงใหม่ โดยเป็นกำลังสำคัญในการวางรากฐานการบริหารงานและงานด้านวิชาการของสมาคม ซึ่งต่อมาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้ในพระราชินูปถัมภ์ • เป็นผู้ให้ความสนใจในการทำการเกษตรในพื้นที่ที่เป็นที่แล้งดินเลว โดยให้คำแนะนำถึงวิธีการและขั้นตอนในการใช้พื้นที่ดังกล่าวเพื่อช่วยให้เกษตรกรผู้ด้อยโอกาสได้ใช้เป็นพื้นที่ปลูกและขยายพันธุ์ไม้ผลชนิดต่างๆ ปัจจุบันได้มีการดำเนินการในจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย • เป็นผู้เริ่มต้นนำปทุมมา (Curcuma alismatifolia) ซึ่งเป็นพืชพื้นถิ่นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และยังไม่มีผู้มองเห็นคุณค่าไปเผยแพร่ให้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจ ปัจจุบันมีเกษตรกรจำนวนมากผลิตหัวของปทุมมา เพื่อส่งขายไปยังประเทศเนเธอร์แลนด์และประเทศญี่ปุ่น (ใช้ผลิตเป็นไม้ตัดดอกและไม้กระถาง) คิดเป็นมูลค่ากว่าหนึ่งพันล้านบาท • เป็นผู้ริเริ่มวิธีการสอนนักศึกษาโดยเน้นให้นักศึกษาได้ปฏิบัติจริงด้วยตนเองไปพร้อมกับการเรียนทางด้านทฤษฎี จัดให้มีการศึกษาการผลิตไม้ตัดดอกอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิชาการผลิตไม้ดอกเพื่อการค้า จนนักศึกษาสามารถเข้าใจระบบการผลิตและการตลาด • เป็นผู้ริเริ่มวิธีการฝึกงาน โดยให้นักศึกษาได้เห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรของมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นให้นักศึกษาเป็นผู้รู้จริง การฝึกงานทุกครั้งจะมีอาจารย์ไปให้คำแนะนำแก่นักศึกษาอย่างใกล้ชิด รวมทั้งมีกิจกรรมเสริม เช่น การศึกษาธรรมชาติ และการอบรมธรรมะ เป็นต้น • เป็นผู้ที่ค้ำจุนพระพุทธศาสนาทั้งทางด้านการจัดสร้างศาสนวัตถุและการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิศิษฐ์ วรอุไร ได้ปฏิบัติงานสนองเบื้องพระยุคลบาทพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตั้งแต่ครั้งเมื่อรับราชการเป็นอาจารย์ในคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้สนองพระราชปณิธานในด้านการผลิตไม้ดอกบนที่สูง การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิศิษฐ์ วรอุไร ได้สนองงานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะที่ปรึกษาด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศวิทยาป่าไม้ ใน “โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาบุคลากร ในการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรพันธุกรรมพืช โดยจัดให้มีโครงการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนเพื่อเป็นสื่อในการสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชและเพื่อให้เยาวชนได้ใกล้ชิดกับพืชพรรณไม้เห็นคุณค่าประโยชน์และความสวยงาม อันจะก่อให้เกิดความคิดที่จะอนุรักษ์พันธุกรรมพืชต่อไป โดยเหตุที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิศิษฐ์ วรอุไร เป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลต่อกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญา อุทิศตนเพื่อทำคุณประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมืองและการปฏิบัติงานสนองเบื้องยุคลบาทอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เกียรติคุณและผลงานอันดีเด่นดังกล่าว สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงมีมติให้ได้รับพระราชทานปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (พืชสวน) เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป